ไทม์ไลน์เลือกตั้ง 2566 งวดขึ้นเรื่อยๆ 3 และ 4 เมษายนนี้ เริ่มรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลุ้นจับหมายเลข ชวนส่องคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม ย้ำ เลือกตั้งคราวนี้ต้องกา 2 ใบ

การเลือกตั้งใหญ่ขยับใกล้เข้ามาทุกที ภายหลังมีการยุบสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันเลือกตั้ง 2566 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 และผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า สามารถออกไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงได้ในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ซึ่งครั้งนี้จะต้องเลือกตั้งผ่านบัตร 2 ใบ คือ เลือกตัวผู้สมัคร 1 ใบ และเลือกพรรคการเมือง 1 ใบ

ขณะไทม์ไลน์ของวันที่ 3 และ 4 เมษายน 2566 เป็นที่น่าจับตา เพราะเป็นวันที่จะมีการรับสมัครผู้เข้าชิงเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งเดินหน้าหาเสียง รวมถึงขึ้นปราศรัยอย่างต่อเนื่อง โดยในวันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2566 จะเป็นการเปิดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง สมัครพร้อมกันทั่วประเทศวันแรก ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. และรับสมัครวันสุดท้ายศุกร์ที่ 7 เมษายน 2566

ภาพการเตรียมสถานที่และซักซ้อมขั้นตอนการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขต 1-33 กรุงเทพมหานคร ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566
ภาพการเตรียมสถานที่และซักซ้อมขั้นตอนการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขต 1-33 กรุงเทพมหานคร ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566

...

ส่วนวันอังคารที่ 4 เมษายน 2566 จะเปิดรับผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร และการรับสมัครจะมีไปจนถึงวันที่ 7 เมษายน 2566 เป็นวันสุดท้ายเช่นกัน แต่ในวันสุดท้ายจะปิดรับสมัครในเวลา 16.00 น.

โดยการสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีค่าธรรมเนียมการสมัครคนละ 10,000 บาท ก่อนที่จะเข้าสู่การชิงชัยในสนามเอาชนะใจประชาชนให้ได้ในวันเลือกตั้ง ว่าใครบ้างที่จะได้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวม ส.ส. 500 คน

คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์สมัคร ส.ส.

สำหรับผู้รับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีคุณสมบัติตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ระบุไว้ใน มาตรา 41 ว่า

1. มีสัญชาติไทยโดยการกำเนิด

2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง

3. เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภาระยะเวลา 90 วันดังกล่าวให้ลดลงเหลือ 30 วัน

4. ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย

  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
  • เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
  • เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา
  • เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี

ลักษณะต้องห้ามสมัคร ส.ส.

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้

1. ติดยาเสพติดให้โทษ

2. เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

3. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ

4. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

5. อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

6. วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

7. อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง

8. ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

9. เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

10. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

11. เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

12. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

13. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

14. เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง

15. เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

16. เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกิน 2 ปี

17. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

18. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

19. อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

20. เคยพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ ส.ส., ส.ว. หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย

21. เคยพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ กรณีที่มีผู้ลงทะเบียนการรับสมัครก่อนเวลาเปิดให้ทำการ คือก่อนเวลา 08.30 น. ถือว่าเป็นผู้มายื่นใบสมัครพร้อมกัน ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง (ผอ.กต.เขต) ต้องจัดประชุมเพื่อดำเนินการตกลงลำดับการยื่นใบสมัครของผู้ที่มายื่นใบสมัครพร้อมกัน หากตกลงกันได้ ให้ยื่นตามลำดับที่ตกลงกัน แต่หากตกลงกันไม่ได้ ผอ.กต.เขต จับสลาก 2 ครั้ง ดังนี้

  • การจับสลากครั้งที่ 1 ให้ ผอ.เลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง หรือผู้ที่ ผอ.มอบหมาย เขียนชื่อผู้สมัครบนสลากที่เหมือนกันแล้วใส่ในภาชนะ จากนั้นให้ ผอ.เป็นผู้จับสลากชื่อผู้สมัครขึ้นมาทีละ 1 ใบ ชื่อผู้สมัครใดที่ถูกจับมาเป็นลำดับแรก ให้ถือว่าผู้สมัครนั้นเป็นผู้มีสิทธิ์จับสลากลำดับในการยื่นใบสมัครก่อน
  • การจับสลากครั้งที่ 2 ให้ ผอ.เลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง หรือผู้ที่ ผอ.มอบหมาย เขียนหมายเลข 1 จนถึงหมายเลขที่เท่ากับจำนวนผู้สมัครที่จะทำการจับสลากบนสลากที่เหมือนกันแล้วใส่ในภาชนะ แล้วให้ผู้สมัครทำการจับสลาก เรียงลำดับตามผลการจับสลากครั้งที่ 1 ผู้สมัครใดจับสลากได้หมายเลขใด ให้ถือเป็นลำดับในการยื่นใบสมัครของผู้สมัครรายนั้น โดยหมายเลขผู้สมัครแต่ละคน แต่ละเขต แต่ละพรรค จะได้หมายเลขตามที่จับสลากซึ่งจะไม่ตรงกันทั้งประเทศ

ส่วนการรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ผู้ลงสมัครไม่ต้องมายื่นด้วยตัวเอง อาจมีตัวแทนพรรคมายื่นเอกสารพร้อมหลักฐานแทนได้ และการจับสลากก็เหมือนกัน เพียงแต่หมายเลขบัญชีรายชื่อพรรคจะเป็นหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ

แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.
แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.

เลือกตั้งครั้งนี้ต้องกาบัตร 2 ใบ

ทางด้านบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้ระบุถึงความแตกต่างของบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่า แม้จะเป็นพรรคเดียวกันแต่เป็นคนละหมายเลข (หรือคนละเบอร์) ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดย กกต.เป็นเพียงผู้กำหนดรูปแบบบัตรให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น

1. บัตรมาตรฐานแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คือ บัตรที่มีเฉพาะหมายเลขผู้สมัคร หรือที่เรียกว่าบัตรโหล จะไม่มีรายชื่อผู้สมัคร ซึ่งทุกการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในไทยใช้บัตรเลือกตั้งแบบนี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่มีเฉพาะแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือมีการเลือกตั้งแบบบัญชีราบชื่อ หลังปี 2540 หมายความว่าไม่เคยมีชื่อผู้สมัครในบัตรเลือกตั้ง และไม่มีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายพรรคการเมือง หรือชื่อพรรคการเมือง เพื่อป้องกันความสับสนกับบัตรแบบบัญชีรายชื่อ

ตัวอย่างบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
ตัวอย่างบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

2. บัตรมาตรฐานแบบบัญชีรายชื่อ รูปแบบคือ เป็นบัตรที่มีหมายเลขผู้สมัคร มีสัญญลักษณ์ หรือเครื่องหมายของพรรคการเมือง และมีชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง มีการเริ่มใช้บัตรเลือกตั้งรูปแบบนี้นับแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นต้นมา ทุกการเลือกตั้งก็จะใช้บัตรเลือกตั้งนี้มาตลอด

ตัวอย่างบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
ตัวอย่างบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่จะลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า หรือต้องการใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ยังสามารถทำได้ถึงวันที่ 9 เมษายน 2566 ซึ่งในส่วนของการเลือกตั้งนอกเขตและนอกราชอาณาจักรสามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางเว็บไซต์ได้ (ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 ไม่ยาก เริ่ม 25 มี.ค.วันแรก ถึง 9 เม.ย. 66)

มาลุ้นไปพร้อมกันว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะได้หมายเลขอะไร บรรยากาศในห้วงเวลานี้จะเป็นไปด้วยความคึกคักฮึกเหิมของบรรดาผู้สมัครและกองเชียร์ ซึ่งหลังจากที่ได้รับหมายเลขกันแล้ว บรรดาพรรคการเมืองก็พร้อมที่จะเดินหน้าหาเสียงขายนโยบายและติดหมายเลขทันทีเพื่อสร้างภาพจำให้กับประชาชน ก่อนจะถึงวันเข้าคูหาใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ และในอนาคตอันใกล้พวกเขาเหล่านี้จะกลายมาเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้านชุดใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร ให้ประชาชนได้จับตาตรวจสอบการทำหน้าที่ให้สมกับเป็นผู้แทนราษฎร บวกกับความคาดหวังว่าสภาจะไม่ล่มซ้ำซากเหมือนที่ผ่านมา.




ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Anon Chantanant