"ส.ว.อนุพร" หนุน ให้สถาบันการเงิน ดำเนินการตาม "พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมออนไลน์" อย่างรวดเร็ว อายัดบัญชีทันที หลังรับแจ้งจากผู้เสียหาย เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการใช้บัญชีม้า พร้อมระบุ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา

วันที่ 31 มี.ค. 2566 นายอนุพร อรุณรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะคณะกรรมาธิการ การเศรษฐกิจ อนุกรรมาธิการการเงิน และการคลัง ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการจับกระแสสภา ทางวิทยุรัฐสภา FM 87.5 MHz เกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 (ปราบอาชญากรรมออนไลน์) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า ต้องขอชื่นชมรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ โดยเฉพาะภัยไซเบอร์ ไม่ว่าจะผ่านทางมือถือ หรือทางอินเทอร์เน็ตก็ตาม ถือว่ามีความสำเร็จ แต่ก็ยังพบว่าไม่สามารถป้องกันเหตุที่เกิดขึ้นจากการใช้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต มีการแฮก หรือ โจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล การฟิชชิง ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งในการหลอกลวงทางโลกออนไลน์ โดยใช้กลอุบายหลอกลวงผู้ใช้งาน และการแอบอ้างเว็บไซต์ของธนาคารในรูปแบบต่างๆ เช่น ใช้อีเมล การสอบถามข้อมูลเพื่อล้วงข้อมูลความลับจากเหยื่อและการโจมตีด้วยมัลแวร์ จงใจสร้างผลกระทบจากซอฟต์แวร์ที่ประสงค์ร้าย การหลอกลวงทางออนไลน์ด้านต่างๆ โดยใช้เครือข่ายดิจิทัล  

...

นอกจากกลุ่มพวกนี้ที่ดำเนินการหลอกเหยื่อโดยตรงแล้ว เรายังพบว่า กลุ่มนี้อาศัยบุคคลอื่นเพื่อไปดำเนินการเปิดบัญชีให้พวกมิจฉาชีพนำไปใช้ หรือ ที่เรียกว่า บัญชีม้า ต่อกันเป็นทอดๆ ในการก่ออาชญากรรมต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมที่สำคัญนั้น

มิใช่เฉพาะที่เป็นกลุ่มเปิดบัญชีม้าเท่านั้น ยังรวมไปถึงกลุ่มบุคคลที่ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตน หรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์ของตนด้วย กลุ่มต่างๆ ที่กล่าวไปแล้วทั้ง 4 ประเภท ถ้ามิได้ใช้เพื่อตนเองหรือกิจการของตน แต่ให้บุคคลอื่นกระทำการโดยที่ตนเองควรจะรู้ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งพบว่ามีจำนวนมากกว่า 10,000 บัญชีที่ถูกเปิดเป็นบัญชีม้า เพื่อรับการโอนเงินอาชญากรรมออนไลน์ และปกปิดไม่ให้รู้ต้นตอของเครือข่าย
 
นายอนุพร ยังเปิดเผยว่า จากสถิติการรับแจ้งความอาชญากรรมทางออนไลน์ ในปี 2565 พบว่ามีการแจ้งความ 9,000 ครั้งต่อเดือน และในเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา 27,000 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้หากมีการแฮกระบบสถาบันการเงินระหว่างประเทศ จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจการเงินและความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุน ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างได้

ทั้งนี้ นายอนุพร ในฐานะที่เป็นคณะกรรมาธิการ การเศรษฐกิจ อนุกรรมาธิการการเงิน และการคลัง ให้ข้อคิดเห็นในการป้องกัน และยับยั้งสภาพปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์นี้ ไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้างจะต้องได้รับความร่วมมือกันอย่างจริงจัง และเข้มแข็งโดยผ่านกระบวนการบังคับใช้กฎหมายจะประกอบไปด้วย 3 ภาคส่วนที่ต้องร่วมมือกัน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในส่วนของภาครัฐ มีธนาคารแห่งประเทศไทย เจ้าพนักงานตำรวจ กรมสืบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น ในส่วนภาคเอกชนได้แก่ สถาบันธนาคารพาณิชย์ต่างๆ และภาคประชาชน ที่เป็นผู้ใช้บัญชีเงินฝากต่างๆ รวมถึงบุคคลทั่วไป

"สำหรับในภาคส่วนของรัฐและเอกชน เชื่อมั่นว่าสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะพร้อมทั้งบุคลากร และเครื่องมือต่างๆ โดยส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นมีความรับผิดชอบโดยตรงที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบ และกำกับดูแลองค์กรสถาบันการเงินต่างๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงิน รวมไปถึงการติดตามให้เท่าทันท่วงที และให้ได้มาตรฐานสากลของธนาคารโลก ขององค์กรที่ป้องกันอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและองค์กรป้องกันการฟอกเงิน ซึ่งต้องใช้แบบเข้มข้น และตระหนักความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากจะเป็นมาตรวัดองค์กร

รวมไปถึงภาคเอกชนสถาบันการเงิน การธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็เช่นกันที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อลูกค้าทางบัญชี รับผิดชอบต่อประชาชน สังคมของเราและความรับผิดชอบต่อประเทศ ซึ่งหมายความว่า สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ต้องกระตือรือร้น ตื่นตัว ในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ นอกเหนือจากที่ต้องมีระบบการทำธุรกรรมให้ป้องกันภัยทางระบบคอมพิวเตอร์แล้ว

ดังนั้น ทุกองค์กรทุกภาคส่วนต้องตระหนักภาระหน้าที่ของตน ให้ความร่วมมือกันเพราะนี่เป็นเรื่องเศรษฐกิจของชาติ ถือเป็นข้อคิดเห็นในฐานะสมาชิกวุฒิสภา วันนี้กฎหมายเริ่มบังคับใช้แล้วเพื่อที่จะให้คำแนะนำให้ข้อสังเกตและเป็นการเพิ่มเติมความรู้ให้กับประชาชน หากเกิดเหตุการณ์ถูกอาชญากรรมออนไลน์บัญชี จะต้องปกป้องสิทธิของตนเองอย่างไร" นายอนุพร ย้ำ

สำหรับ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีการบังคับใช้แล้ว จะสามารถแก้ไขปัญหาการเปิด บัญชีม้าได้มากน้อยแค่ไหนนั้น นายอนุพร ระบุว่า กฎหมายมีความทันสมัยอยู่ แต่สถาบันการเงิน หรือ ธนาคารก็ต้องทำงานให้เร็วขึ้น ตามให้ทันอาชญากร ต้องดูความแอกทีฟและจิตสำนึกสูงกว่าปกติในเรื่องความรับผิดชอบต่อบัญชีของลูกค้า  

นายอนุพร ย้ำว่า อันดับแรก ผู้เสียหายจะต้องแจ้งธนาคารให้อายัดบัญชีทันที และเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนทันทีเช่นกัน หากเกิดเหตุ ควรที่จะมีการบันทึกการสนทนาระหว่างการโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ธนาคารไว้เป็นหลักฐาน ว่าได้แจ้งไปแล้วเวลาใด สถาบันการเงินก็ต้องมีหน้าที่อายัดบัญชีทันที เจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาครัฐต้องเตรียมตัวรับเรื่องและปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายให้ทันท่วงที และเมื่อมีการร้องทุกข์แล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับการทำธุรกรรมไว้ทราบ และให้พนักงานสอบสวนพิจารณา ดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากและบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความร้องทุกข์ หากไม่มีคำสั่งให้ระงับการทำธุรกรรมไว้ต่อไปภายในเวลาดังกล่าว ให้สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมน้ัน
 
ทั้งนี้ โทษสำหรับผู้ใดที่เปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตัวเองหรือเพื่อกิจการที่เกี่ยวข้อง หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์ สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รวมถึง ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด และมีการซื้อ หรือ ขายเลขหมายโทรศัพท์ สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ