ครม. 28 มี.ค. 66 รับทราบรายงานการเงินรวมภาครัฐ ปีงบประมาณ 2565 สัดส่วนรายได้เพิ่มสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

วันที่ 28 มี.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบรายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงิน และงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินของรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 8,424 หน่วยงาน จากทั้งหมด 8,443 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 99.97 สรุปได้ ดังนี้

1. รายงานการเงินรวมภาครัฐ

  • สินทรัพย์ 34.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.96 ส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ รองลงมาเป็นเงินลงทุนระยะยาว และสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐ
  • หนี้สิน 26.87 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.73 เนื่องจากมีการกู้เงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และการชดเชยรายได้ของประชาชนตามแผนงาน หรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 พ.ศ. 2563) และ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
  • รายได้ 8.79 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.61 เนื่องจากมีรายได้แผ่นดินเพิ่มขึ้น เช่น การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ค่าใช้จ่าย 8.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.98 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้ต้นทุนการขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น

...

2. รายงานการเงินรวมของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ

  • สินทรัพย์ 16.75 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.20 ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ที่มีจำนวนลดลง จากการใช้งานในรูปแบบของค่าเสื่อมราคาอาคารและอุปกรณ์ของหน่วยงาน
  • หนี้สิน 12.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.02 เนื่องจากมีการกู้เงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และการชดเชยรายได้ของประชาชนตามแผนงาน หรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
  • รายได้ 3.45 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.32 เนื่องจากรายได้ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลดลง
  • ค่าใช้จ่าย 4.21 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.49 เนื่องจากค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุนอื่นและการบริจาค และค่าใช้จ่ายอื่น เช่น สวัสดิการสังคมและเงินช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย

อนุชา บูรพชัยศรี
อนุชา บูรพชัยศรี

3. รายงานการเงินรวมของรัฐวิสาหกิจ

  • สินทรัพย์ 18.42 ล้านล้านบาท เพิ่มร้อยละ 5.08 เนื่องจากสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นของธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน
  • หนี้สิน 15.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.79 เนื่องจากหนี้สินของสถาบันการเงินของรัฐเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นของธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน
  • รายได้ 5.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.41 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น
  • ค่าใช้จ่าย 4.73 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.98 เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการดีขึ้น จากการขายสินค้าและการให้บริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น

4. รายงานการเงินรวมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

  • สินทรัพย์ 1.61 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.18 ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ และสินทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน
  • หนี้สิน 0.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41 ส่วนใหญ่เป็นภาระหนี้สินของ กทม. จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเงินรับฝากระยะสั้น
  • รายได้ 0.82 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.89 เนื่องจากรายได้ของ อปท. เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราปกติ
  • ค่าใช้จ่าย 0.60 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.11 โดยเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร ค่าบำเหน็จบำนาญ และค่าใช้จ่ายสวัสดิการของรัฐ


ทางด้านหน่วยงานของรัฐที่ไม่ส่งรายงานการเงิน ครม.ให้จัดส่งรายงานการเงินประจำปีงบประมาณ 2565 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ ครม.มีมติ

อย่างไรก็ตาม โฆษกรัฐบาลยังได้กล่าวถึงผลการวิเคราะห์ พบว่า สัดส่วนรายได้เพิ่มสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้รวมของปีงบประมาณ 2565 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 ร้อยละ 17.61 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.98 โดยมีสัดส่วนรายได้เพิ่มสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แสดงถึงสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานของรัฐและรายได้แผ่นดิน.