ถึงจะเป็นกลุ่มคนส่วนน้อย แต่ก็มีเสียงดังที่สุดในประเทศเราลองมาดูโพลซีอีโอ ระดับผู้บริหารองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่กันบ้าง

ว่าเขาจะเลือกผู้นำและพรรคการเมืองแบบไหนมาบริหารประเทศ

ทำโดย กรุงเทพธุรกิจ สำรวจความคิดเห็น 200 ซีอีโอ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ หลากหลายกลุ่ม

ทั้ง ภาคการผลิต, เกษตร, พลังงาน, อสังหาริมทรัพย์, ส่งออก, การเงิน, ค้าปลีก, ท่องเที่ยว, ภาคบริการ, ไอทีดิจิทัล รวมถึงกลุ่มสตาร์ตอัพ

“อนาคตประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง” ใครจะเป็นนายกฯ และพรรคการเมืองที่นักธุรกิจชั้นนำเหล่านี้มองว่าควรเป็น “แกนนำจัดตั้งรัฐบาล”

รวมไปถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่ควรได้รับการแก้ปัญหา ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว สำรวจตั้งแต่วันที่ 21-25 มี.ค.

ซีอีโอโพล เทคะแนนให้ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ คิดเป็นสัดส่วน 24.2%

อันดับ 2 คือ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” 15.2%

อันดับ 3 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 14.1%

อันดับ 4 “แพทองธาร ชินวัตร” ที่ 11.6%

และ อันดับ 5 “กรณ์ จาติกวณิช” 9.1%

โดยตัวเลือกที่ยกขึ้นมาให้เลือก มีทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รวมถึงนายบัณฑูร ล่ำซำ ฯลฯ

ขณะที่ พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กลุ่มซีอีโอเหล่านี้ เทคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทยมากที่สุด 44.3%

รองลงมาเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ 17% พรรคก้าวไกล 16% พรรคพลังประชารัฐ 5.2% และ พรรคภูมิใจไทย 4.1%

...

นอกจากนี้ยังมีการสอบถามความเห็นต่อ นโยบายที่รัฐบาลใหม่ต้องทำ

กลุ่มซีอีโอต้องการ นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นอันดับแรก คิดเป็น 82%

รองลงมาคือ ปรับปรุงกฎหมายเศรษฐกิจให้ทันสมัย 46.5% แก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ 43% การดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ 42.5% และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก 37.5%

นโยบายถัดๆมา เช่น สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ให้ความสำคัญนโยบาย Sustainability เร่งยกระดับรายได้เกษตรกร มองไทยให้เป็นฮับ Wellness โลก เร่งนโยบายรับมือด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitic) รวมไปถึงนโยบายสร้าง Soft Power ปฏิรูปการศึกษาไทยให้ดีขึ้น มีแผนแม่บทเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน

ส่วน นโยบายเชิงสังคม เร่งด่วนที่สุดคือ แก้ปัญหายาเสพติด 71.5% อาชญากรรมออนไลน์ การพนันออนไลน์ 65.5% ปัญหาฝุ่น pm 2.5 61% ปัญหาค่าครองชีพ 50% แก๊งมาเฟียข้ามชาติ 49.5% ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ “กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้สูงอายุ”

ขณะที่นโยบายที่ถูกมองว่าไม่เหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันคือ ยกเลิกแบล็กลิสต์เครดิตบูโร, ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ, พักชำระหนี้, มาตรการแจกเงิน, ลดราคาพลังงาน, การประกันรายได้เกษตรกรรวมไปถึงกัญชาเสรี

นี่ก็เป็นความเห็นของเหล่าซีอีโอ บริษัทขนาดใหญ่

มุมมองอาจจะต่างจากประชาชนทั่วไป เพราะเน้นเรื่องการขับเคลื่อนธุรกิจเป็นหลัก

แต่ยิ่งบ่งชี้ทิศทางในการเลือกพรรคการเมืองที่จะมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

และผู้นำบริหารประเทศได้ชัดยิ่งขึ้น.

เพลิงสุริยะ