ต้องยอมรับว่า การเมืองช่วงสัปดาห์ที่ผ่านพ้นมา เต็มไปด้วยความร้อนแรง ทั้งจากในสภาและนอกสภา ปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้น และผ่านออกสู่สายตาสาธารณชน ต้องนับเป็นประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ
สำหรับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ต้องนับว่าเป็นครั้งแรก แบบที่คนไทยทุกคน ถ้าต้องให้พูดความรู้สึกที่ได้เห็น แทบจะกล่าวออกมาพร้อมๆ กันแบบที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ตั้งแต่เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ก็ไม่เคยพบเห็น"
ยอมรับว่าก็เคยเห็นมาบ้าง ก็แต่ในรายงานข่าวโทรทัศน์ แต่มันก็เกิดในต่างประเทศ แต่สำหรับคนไทยยังไม่เคยเจอมาก่อน นั่นก็คือ เหตุการณ์ความวุ่นวายในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของรัฐสภาไทย ระหว่างวันที่ 30 -31 พ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สาเหตุเบื้องต้นเกิดจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน อ้างว่า ไม่พอใจการทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรของ (ขุนค้อน) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ทั้งการปิดล้อมตัวประธาน, ส.ส.ขึ้นไปเชิญตัวประธานสภาฯ ลงมาระหว่างการทำหน้าที่ เนื่องจากเห็นว่า ประธานสภาฯ ไม่มีความเป็นกลาง, การตะโกนคำหยาบคายของ ส.ส.เพื่อไทย, การตรงเข้าไปบีบคอเพื่อน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้าน
...
เรื่อยมาจนมาถึงเหตุการณ์เป็นที่โจษจันกันอย่างมาก เมื่อ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรค ปชป. ขึ้นไปลากเก้าอี้ ประจำตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก จากพรรคเดียวกัน ปาข้อบังคับการประชุมสภาที่มีความหนาถึงกว่า 200 หน้า ไปโดนบริเวณหน้าอกประธานสภาฯ เนื่องจากไม่พอใจ การพยายามตัดบทให้มีการลงมติเลื่อนการพิจารณา พ.ร.บ.ปรองดองขึ้นมาเป็นวาระแรก โดยไม่ยอมฟังใครของนายสมศักดิ์ ยังไม่นับคำหยาบคายที่ทั้งสองฝ่ายสาดเข้าใส่กันแบบไม่ยั้ง
เหตุการณ์ทั้งหมดต้องยอมรับ ทำเอาภาพลักษณ์ของสภาฯ อันทรงเกียรติของไทย ถึงต้องมีอันติดลบหนัก แทบจะกลายเป็นสภาฯเถื่อน และผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ก็ต้องยอมรับว่าพรรคฝ่ายค้านอย่าง ปชป. คงต้องมีส่วนรับผิดชอบมากที่สุดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เพราะเป็นฝ่ายทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมาก่อน แม้จะมีเหตุผลหรือไม่ก็ตาม
และถึงแม้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. จะออกมายอมรับว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคเก่าแก่ อย่าง ปชป. เสียหายติดลบบ้างในสายตาประชาชน แต่ก็ต้องทำ หากทำแล้วสามารถรักษาผลประโยชน์ของชาติได้ ก็ต้องยอม ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลที่พยายามเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน ทั้งขอให้นายอภิสิทธิ์ลาออก หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องออกมาขอโทษประชาชน เพราะไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของลูกพรรคได้
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร พรรคเก่าแก่ อย่างประชาธิปัตย์ ที่มีสัญลักษณ์ประจำพรรคอย่าง "พระแม่ธรณีบีบมวยผม" ก็ไม่อาจปฏิเสธว่า ควรต้องมีส่วนความรับผิดชอบในเหตุความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวได้ ส่วนถึงกับจะต้องออกมาขอโทษพี่น้องประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศตามที่พรรครัฐบาลอย่างเพื่อไทยออกมาพยายามเรียกร้องหรือไม่?
เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ที่มี ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ ซึ่งต้องถือได้ว่าหลายคนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งในพรรค หรือในบ้านเมือง และมีบุคลากรทางการเมืองที่มีคุณภาพเป็นจำนวนมาก ก็ต้องตอบคำถามประชาชนว่า เหตุผลกลใด จึงต้องประท้วงกันในสภาอย่างรุนแรง ซึ่งก็เชื่อว่าพรรคการเมืองใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ และประสบการณ์ทางการเมืองมากอย่าง ปชป. คงสามารถคิดได้เองว่าควรตอบจะต้องมีการขอโทษกันหรือไม่?
ข้ามมาฟากรัฐบาลอย่าง พรรคเพื่อไทย ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน กรณีความรุนแรงและความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและนอกสภาฯ ต้องยอมรับว่าสาเหตุใหญ่ก็เพราะพรรคเพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ พ.ศ….ถึง 4 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางเสียงคัดค้านของพรรคฝ่ายค้าน ส.ว.บางส่วนและนักวิชาการ
หากไม่เป็นการหลอกตัวเองจนเกินไป สังคมส่วนใหญ่ก็รับรู้ได้ว่ามีการเร่งเครื่องแบบที่เรียกว่า "เหยียบมิดคันเร่ง ไม่ขอฟังเสียงทัดทานจากผู้ใด" ดูไปก็ช่าง เหมือนมีใครที่มีอำนาจอยู่เบื้องหลังพรรค คอยสั่งกำชับให้คอยต้องเดินหน้า อย่างที่มีหลายฝ่ายก่อนหน้าออกมาดักคอรัฐบาล
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ต้องยอมรับว่า พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอะไร หากจะรอ หรือดึงเวลาเอาไว้ก่อน เพื่อไปชี้แจงกับพี่น้องประชาชน หรือนำมาถกกับพรรคฝ่ายค้านให้เกิดความเข้าใจกันเสียก่อน อาจช้าไปบ้าง แต่ก็คงไม่ส่งผลเสียหายอะไรกับประเทศชาติ อย่างที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้
ที่แปลกไปกว่านั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ยอมรับว่า ส่วนตัวยังไม่ได้ดูเนื้อหาใน พ.ร.บ.ปรองดอง ของ พล.อ.สนธิ หรือไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ฉบับใดเป็นผู้เสนอเข้ามา แต่กลับบอกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีคืนเงิน 46,000 ล้านบาท ให้กับพี่ชายอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
การให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีหญิงในลักษณะดังกล่าว แทนที่จะมีส่วนให้สถานการณ์การเมืองดีขึ้น แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับยิ่งทำให้ข้อสงสัย หรือการตั้งข้อสังเกตของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามคัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดอง ดูจะมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดว่า มีความพยายามจากฟากฝั่งพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงพรรคร่วมฯ โดยเฉพาะตัว พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ที่ลงทุนเป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้ามาเอง จนนำมาถึงเหตุวุ่นวายในสภา ส่วนนอกสภาฯ ที่เป็นการจุดประเด็นให้มวลชนกลุ่มเสื้อเหลือง กลุ่มหลากสี กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ กลับมารวมตัวและเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภาฯ อย่างหนัก จนการเมืองต้องเกิดความวุ่นวายและตึงเครียดอย่างหนัก มีการนำมวลชน ปิดกั้นทางเข้า-ออกรัฐสภา เพื่อไม่ให้ ส.ส.เข้าไปพิจารณากฎหมายดังกล่าวได้
ดังนั้น การบ้านของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ต้องทำให้ได้ คือต้องมาชี้แจงถึงเหตุผลที่แท้จริง ในการเร่งดัน พ.ร.บ.ปรองดองฉบับดังกล่าว ผ่านสภาให้ได้ว่ามีเหตุจำเป็นอะไร จึงต้องเร่งด่วนขนาดนั้น ถึงกับต้องมีการขยายเวลาประชุมสภาผู้แทนราษฎรออกไปแบบไม่มีกำหนด
นี่ไม่นับรวมกรณีที่ศาล รธน. มีคำสั่งให้รัฐสภา ชะลอการลงมติแก้ รธน. ในวาระ 3 ที่ความจริงแล้ว ตามกำหนดเดิม หากไม่มีคำสั่งศาล จะมีการนัดลงมติฯ กันในวันนี้ แต่ขนาดศาล รธน.มีคำสั่งแล้ว ก็ยังปรากฏแรงกระเพื่อมจากทั้งคนของพรรคเพื่อไทยเอง บ้านเลขที่ 111 รวมไปถึงจากคณะนิติราษฎร์ ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลออกมาอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย ยังไม่สามารถชี้แจงถึงเหตุผลที่แท้จริงได้ ถึงความพยายามเร่งกระบวนการผ่านกฎหมาย ทั้งร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ไปจนถึงร่างแก้ รธน. ที่ต้องมีทั้งความถูกต้องและชอบธรรม ทั้งในแง่ของหลักนิติรัฐและนิติธรรม ให้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่เข้าใจได้
อย่าว่าเป้าหมายพา "นายใหญ่" (พ.ต.ท.ทักษิณ) กลับบ้านเลย เอาแค่ให้รัฐบาลเพื่อไทยมั่นคง มีเสถียรภาพ แล้วยังทรงตัวทำงานให้ประชาชนไทยทั่วประเทศอยู่ได้ ก็คงยากลำบากแล้ว ยิ่งถ้าคิดจะหวังพึ่งมวลชนคนเสื้อแดง มาช่วยเป็นฐานค้ำยันให้รัฐบาลเพียงอย่างเดียว มันก็คงไม่เหมือนเดิม เพราะในกลุ่มเสื้อแดงเอง ก็ไม่ได้แน่นแฟ้นเหมือนเก่าก่อน
หรือใครจะเถียงว่าไม่จริง!....