สมดังคำประกาศของเนติบริกร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่ว่ารัฐบาลสามารถทำอะไรได้แนบเนียนกว่าผู้ที่มิใช่รัฐบาล ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมง เพื่อพิจารณาวาระการประชุมรวม 71 วาระ ทิ้งทวนในวันเดียว

วาระการประชุมที่สำคัญได้แก่ การอนุมัติให้ขึ้นค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านสารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เช่น กำนันเพิ่ม 2,000 บาท จาก 10,000 บาท เป็น 12,000 บาท ผู้ใหญ่บ้านจาก 8,000 บาท เป็น 10,000 บาท รวมทั้งหมดเป็นเงิน 4,795 ล้านบาท เพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจ

รวมทั้งให้ทัดเทียมกับเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ ก็จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มกันโดยถ้วนหน้า เป็นการเพิ่มตามรายได้ของแต่ละ อบต.ที่ไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น อบต.ที่มีรายได้ปีละ 10–25 ล้านบาท นายก อบต.ได้เดือนละ 35,600 บาท สมาชิกสภาได้ 9,660 บาท

ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติให้เพิ่มค่าตอบแทนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ จากเดือนละ 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท เพิ่มขึ้นถึง 100% เป็นงบการบริหารประเทศตามปกติ หรือเป็นงบหาเสียง ดูได้จากปฏิกิริยาของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล ที่แย่งกันเป็นผลงานของพรรค

การอนุมัติเพิ่มค่าตอบแทนให้ อสม., อบต. และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ใช่ เป็นแค่ “สัญญาว่าจะให้” แต่องค์กรทั้งสามจะได้รับเงินเพิ่ม ตั้งในปีงบประมาณ 2567 แต่เริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายจึงพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า รัฐบาลสามารถทำอะไรได้แนบเนียนกว่าฝ่ายค้าน

เนื่องจากรัฐบาลต้องบริหารราชการแผ่นดิน อีกทั้งยังไม่มีประกาศยุบสภา รัฐบาลจึงยังมีอำนาจเต็ม ไม่ใช่ “รัฐบาลรักษาการ” ที่ต้องห้ามทำอะไรมากมาย น่าสงสัยว่ารัฐบาลจะต้องปฏิบัติตามระเบียบการหาเสียงของ กกต.ที่เรียกกันว่า “กฎเหล็ก” ที่ใช้บังคับเป็นเวลานานถึง 180 วัน ก่อนถึงวันเลือกตั้งหรือไม่

...

เมื่อ กกต.ออกระเบียบการหาเสียงเลือกตั้ง ที่จะบังคับใช้กับบรรดาผู้สมัครกับพรรคการเมืองนานถึง 6 เดือน และแต่ระดับผู้ใหญ่ของ กกต.ยังยอมรับว่าเป็นกติกา “ที่สุจริตแต่ไม่เที่ยงธรรม” ขัดต่อภารกิจสำคัญของ กกต. รัฐบาลสามารถแจกเงินหาเสียงได้แบบเนียนๆ ไม่ถือว่าใช้เงินประชาชนซื้อเสียงประชาชน.