ปัญหาใหญ่สำหรับ “หน่วยงานราชการกับการจัดซื้อจัดจ้างที่ล่าช้า” เมื่อปรากฏพฤติกรรมพ่อค้าเกเรขี้แพ้แล้วชวนตี “ยื่นอุทธรณ์เพื่อกลั่นแกล้ง” อันส่งผลให้ผู้ชนะการประมูลไม่สามารถเริ่มงานได้
กระทั่งปัจจุบัน “การอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560” อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และข้อร้องเรียนมีปริมาณมากขึ้น “จำนวนนี้เป็นการอุทธรณ์ไม่สมเหตุผลเกินกว่าครึ่ง” จนการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐล่าช้า สร้าง ความเสียหายมากมาย
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลว่า ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น “หน่วยงานภาครัฐ” ต้องเขียนรายละเอียดในโครงการต่างๆ ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องเสนอ ครม.พิจารณา อนุมัติแล้วร่างขอบเขตงาน (TOR) เป็นเงื่อนไขแสดงข้อมูลรายละเอียดประกาศการประกวดราคากันขึ้น
...
แต่การจัดซื้อจัดจ้างในระบบราชการแยกเป็น 2 ประเภท คือ 1.วัสดุใช้งานทั่วไป สำหรับประเภทนี้ “กรมบัญชีกลาง” จะกำหนดสเปกสินค้าไว้ อยู่แล้ว 2.สินค้าบริการอย่างอื่นเกิน 5 แสนบาท ต้องเปิดซองประมูลแข่งขัน 2 แบบ คือ แบบแรก...“การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ” ในเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 กรณี กล่าวคือ
กรณีแรก...“ส่วนราชการกำหนดบริษัท” เสนอคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษพิจารณาคัดเลือก กรณีที่สอง...“จัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีเจาะจง” หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขรายใดรายหนึ่ง เพื่อเข้ายื่นข้อเสนอ หรือเข้าเจรจาต่อรองราคา หรือการจัดซื้อจัดจ้าง พัสดุกับผู้ประกอบการโดยตรง
ต่อมาแบบที่สอง...“การประมูลทั่วไป” ด้วยการเชิญชวนผู้ประกอบการ ทั่วไปที่มีคุณสมบัติตามกำหนดเข้ายื่นข้อเสนอราคา 3 วิธี เช่น 1.วิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ 2.วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ 3.วิธีสอบราคา
เมื่อได้ผู้ชนะการประมูลแล้วก็ทำสัญญาเริ่มทำงานตามโครงการที่เรียกว่า “การบริหารสัญญา” ผู้ชนะประมูลมีหน้าที่ทำตามสัญญา เช่น “งานก่อสร้างตึกอาคาร หรือถนน” สัญญามักสิ้นสุดเมื่อตรวจส่งมอบงานเสร็จแล้ว แต่โครงการบางประเภทอย่าง “สัญญาสัมปทาน” การบริหารสัญญามักบังคับตลอดอายุสัมปทานนั้น
ทว่าก่อนทำสัญญาระหว่างภาครัฐ และผู้ชนะประมูลนั้น “ต้องรอการ อุทธรณ์” ตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ กล่าวคือหน่วยงานของรัฐปิดประกาศผลผู้ชนะโดยเปิดเผยที่หน่วยงานนั้น
การลงนามในสัญญาจะทําได้เมื่อพ้นระยะอุทธรณ์ และไม่มีผู้ใดอุทธรณ์ตามมาตรา 117 หรือกรณีมีการอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯให้จัดซื้อจัดจ้างต่อไปได้ เว้นแต่การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความจําเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 56 หรือการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง หรือการจัดซื้อที่มีวงเงินเล็กน้อยตามมาตรา 96 วรรคสอง
เรื่องนี้กลายเป็น “ช่องโหว่การยื่นอุทธรณ์เพื่อกลั่นแกล้งอันเป็นปัญหา ใหม่สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” เพราะเมื่อมีการยื่นอุทธรณ์แล้วหน่วยงานภาครัฐต้องหยุดทำสัญญากับผู้ชนะประมูลชั่วคราว นั่นก็เป็นผลทำให้ผู้ชนะ ไม่อาจบริหารสัญญาหรือจัดซื้อจัดจ้างตามสัญญาจนกว่าคณะกรรมการฯจะพิจารณาอุทธรณ์แล้วเสร็จ
ผลก็คือเกิดความล่าช้าในการดำเนินการจัดซื้อวัสดุตามโครงการ “ไม่ทันต่อความจำเป็นเพื่อบริการประชาชน” ทำให้ใช้เงินไม่ทันปีงบประมาณกลาย เป็นสร้างความเสียหายต่อหน่วยงานภาครัฐอย่างมากนี้
ปัจจุบันเพียงแค่ปีงบประมาณ 2565 “มีผู้ยื่นอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้าง 2,046 เรื่อง” แถมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี สิ่งที่น่ากังวลคือมีเพียง 415 เรื่อง หรือ 1 ใน 5 เท่านั้นที่อุทธรณ์แล้วชนะ หรือมีเหตุผลสามารถฟังขึ้น
ปัจจัยการยื่นอุทธรณ์ อย่างเช่น “ผู้อุทธรณ์เห็นว่าหน่วยงานไม่ปฏิบัติตามทีโออาร์ หรือมีการตีความไม่เป็นธรรม” เพราะหน่วยงานของรัฐจัดจ้างแจ้งเหตุผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาไม่ชัดเจน
หากเป็นกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอผ่านการพิจารณาไม่ได้รับการคัดเลือก “หน่วยงานของรัฐ” ก็ไม่แจ้งเหตุผลเพิ่มเติม ทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอสงสัยว่าหน่วยงานพิจารณาไม่โปร่งใส ไม่สุจริต หรือเอื้อประโยชน์ต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น เป็นเหตุให้ไม่ได้รับการประกาศผลเป็นผู้ชนะ หรือไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ
ปัญหามีอยู่ว่า “ผู้อุทธรณ์จำนวนไม่น้อยมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ต้องการกลั่นแกล้งผู้ชนะประมูล หรือเจ้าหน้าที่รัฐ” ในเรื่องเจตนาไม่สุจริตอาจเกิด จากแรงจูงใจได้หลายอย่าง เช่น ขี้แพ้แล้วชวนตี กลั่นแกล้ง เพราะพวกตนพยายามล็อกสเปก หรือจัดฮั้วประมูลแต่ฮั้วแตก หรือผู้ชนะการประมูลไม่ใช่พวกของตน
ทั้งยังมีการทุจริต การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ หรือผู้เกี่ยวข้อง ในการประมูล รวมถึงผู้อุทธรณ์ข้องใจว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน กฎ ระเบียบ ในช่วงใดช่วงหนึ่งของการประมูล
“สิ่งนี้เป็นรูปแบบการต่อสู้ทางเทคนิค เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประมูลคนอื่นได้รับความเดือดร้อน หรือทำให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่สนับสนุนช่วยเหลือพวกเขานั้นต้องเกิดความยุ่งยากต่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยไม่จำเป็น แล้ววิธีการยื่นอุทธรณ์เพื่อกลั่นแกล้งกันนี้กำลังถูกใช้มากขึ้นในวงการการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ” ดร.มานะว่า
ประเด็นน่าสนใจช่วงไม่กี่ปีมานี้ “การคอร์รัปชันจัดซื้อจัดจ้างมีความซับซ้อนมากขึ้น” แต่เดิมมักเป็นการฮั้วเกิดขึ้นได้จาก “เจ้าหน้าที่รัฐ” เป็นผู้กำหนดวิธีการเลือกให้เอกชนรายใด “เป็นผู้ชนะ” โดยนักการเมืองบางคน วางตัวเป็นบ้านใหญ่ชอบทำกันมาก หรือเจ้าหน้าที่รัฐจับมือกับเอกชน และวิธีนี้ปั่นราคาทำกำไรได้มากที่สุด
แต่ปัจจุบันนี้ “ภาคเอกชนจัดฮั้วประมูลกันเอง และจัดฮั้วโดยคนนอกที่มีอาชีพจัดฮั้วโดยตรง” อย่างเช่น กรณีเกิดขึ้นบ่อยในต่างจังหวัดคือ “กินค่าฮั้ว” เน้นงานก่อสร้างผู้ยื่นซองประมูลราคามักจะนัดหมายตกลงกัน “จ่าย เปอร์เซ็นต์ให้ผู้ประมูลรายอื่น” เพื่อแลกงานประมูลโครงการที่จะได้รับนั้น
ตอกย้ำด้วย “จับฮั้วเพื่อแบ่งงาน” เป็นการตกลงกันล่วงหน้าผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะในการประมูลแต่ละโครงการ รวมถึงตกลงราคากันด้วยว่าควรเป็นเท่าไหร่ สิ่งนี้ทำให้ “ผู้ฮั้วชนะการประมูลแบบไม่โปรงใส” มักนำไปสู่ การเรียกรับผลกำไรจากการลดสเปก หรือโกงในงานโครงการให้มากที่สุด เพื่อ จะได้คุ้มค่ากับการลงทุนไปนั้น
ผลลัพธ์มักตกอยู่ที่ “ผลประโยชน์ของชาติที่ควรได้รับ” สังเกตจากถนนหนทางสิ่งปลูกสร้างหลายจุด “พังชำรุดเสียหายเร็วกว่าปกติ” มีแม้แต่ บางโครงการดำเนินงานไม่เสร็จเพราะผู้รับเหมาเจ๊งขาดทุนเสียก่อนก็มี
เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “การคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ” ค่อนข้างล้ำหน้าไปไกลเกินกว่าจะสามารถควบคุมได้แล้วด้วยซ้ำ “การฮั้ว” ทำให้เกิดการผูกขาดตลาดโดยคนกลุ่มหนึ่งอย่างไม่เป็นธรรมที่เป็นมหันตภัยต่อการพัฒนาประเทศ “การจัดประมูลราคา” จึงจำเป็นต้องมีกติกา และมีการเปิดเผยวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน
เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า “เงินของแผ่นดินจะถูกใช้คุ้มค่า” เอกชนทุกรายสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้อย่างเสรี และเป็นธรรม เรื่องนี้ถ้าไม่สังคายนาการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจะมีปัญหามากยิ่งขึ้น
เช่นนี้ “พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ” ต้องวางหลักเกณฑ์ให้ผู้ยื่นเสนอทุกรายในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนั้นมีสิทธิ์อุทธรณ์ได้ แล้วให้ “คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ” ที่มีตัวแทนภาคประชาชนร่วมเป็นกรรมการนั้น เพื่อสร้างหลักประกันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะได้เปิดให้แข่งขันอย่างเสรี เป็นธรรม
แล้วผู้ประกอบการทุกรายจะได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างเปิดเผยและเท่าเทียม
สำหรับการลดปัญหานี้คณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้าง คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อฯ กรมบัญชีกลางได้กำหนดแนวทางการร่าง TOR
ให้ทุกหน่วยงานใช้เป็นแนวทางชัดเจน นอกจากนี้เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.จัดซื้อฯ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน เช่น ให้ผู้อุทธรณ์ต้องวางเงินประกันจำนวนหนึ่ง
บทส่งท้ายระยะยาว “ภาครัฐ” ต้องสร้างมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ใช้อำนาจตรงไปตรงมา มีกลไกเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสทุกคนเข้าถึง “ตรวจสอบย้อนหลังได้ง่าย” เชื่อว่าปัญหาและภาระจะลดลง.