ในที่สุด โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท ก็ต้องชักตะพานแหงนเถ่อไปลุ้นปิดจ๊อบต่อในรัฐบาลใหม่

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ ยอมรับว่าการเจรจาแก้ไข สัญญา (ย้อนหลัง) มีหลายประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงต้องพักไว้รอ ครม. ชุดใหม่มาปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งอีกครั้งหนึ่ง

เป็นอันว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา ต้องเลื่อนยาวไปอีก 6 เดือนเป็นอย่างต่ำ!!

โครงการนี้รัฐบาลเซ็นสัญญาร่วมทุนกับ บริษัทเอเชียเอราวันของกลุ่ม ซีพี ตั้งแต่ปลายปี 2562 หวังให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงของ “นายกฯลุงตู่”

ถ้าเริ่มเดินหน้าก่อสร้างตามสัญญา ปีหน้า 2567 รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเริ่มเปิดหวูดรับผู้โดยสารได้ตามกำหนด

น่าเสียดาย 4 ปีผ่านไปกลายเป็น 4 ปีที่สูญเปล่า!!

กว่าจะเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ กว่าคนไทยจะได้นั่งรถไฟความเร็วสูงให้สมอยากต้องบวกไปอีก 7 ปี หรือต้องรอไปถึงปี 2573 โน่นแหละ

“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่า ความล่าช้า เพราะเอกชนไม่พร้อมเดินหน้าตามกรอบเวลาที่กำหนด

หลังเซ็นสัญญาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเอกชนขอเจรจาแก้ไขสัญญาใหม่

ทั้งๆที่สัญญาที่ลงนามกันไว้ กลุ่มซีพีเป็นผู้เสนอเองทั้งหมด

และเป็นข้อเสนอที่กลุ่มซีพีชนะประมูลแข่งกับเอกชนเจ้าอื่น

“แม่ลูกจันทร์” มองว่า การที่กลุ่มซีพีขอแก้ไขสัญญาย้อนหลัง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิดระบาดก็เป็นเหตุผลที่พอฟังได้

ถ้าไม่ทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์มากเกินไป เชื่อว่า “นายกฯลุงตู่” พร้อมจะกล้อมแกล้มยอมแก้ไขสัญญาย้อนหลังให้บางส่วน

...

แต่...กลุ่มซีพีเล่นท่ายาก ยื่นขอแก้ไขสัญญาเกือบยกกระบิ

ถ้า นายกฯลุงตู่ ยินยอมให้แก้สัญญาย้อนหลังตามคุณขอมาทุกอย่าง

นายกฯลุงตู่อาจโดนกล่าวหาว่าใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่??

เพราะเป็นการแก้ไขสัญญาที่กลุ่มทุนใหญ่ได้ประโยชน์สูงสุด

ข้อที่ 1, ขอแก้เงื่อนไขที่ฝ่ายเอกชนต้องจ่ายค่าสัมปทานรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์ทั้งก้อนทันที เป็นเงิน 10,671 ล้านบาท

ขอแก้สัญญาใหม่ เป็นผ่อนจ่าย 7 ปีจบ

ข้อที่ 2, ขอแก้เงื่อนไขที่ตกลงว่าช่วงก่อสร้าง 5 ปีแรก ฝ่ายเอกชนลงทุนไปก่อนและรัฐบาลจะเริ่มจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ปีที่ 6

ขอแก้ใหม่ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ปีที่ 2 ซึ่งการก่อสร้างยังไม่เสร็จ

ข้อที่ 3, ขอปรับเงื่อนไขที่ฝ่ายเอกชนต้องจ่ายผลตอบแทนให้รัฐบาลจาก 5.52 เปอร์เซ็นต์

ลดเหลือไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี

ข้อที่ 4, ขอแก้ไขความเร็วรถไฟความเร็วสูงจาก 250 กม.ต่อชั่วโมง เหลือ 160 กม.ต่อชั่วโมง ประหยัดงบลงทุนได้อีก 2,000 ล้านบาท

โอย...ฟันกำไรทุกดอกเชียวนะพับเผื่อย.

"แม่ลูกจันทร์"