กทม.ติดตามตรวจคัดแยกขยะเขตหนองแขม คุมเข้มค่าฝุ่น PM 2.5 ลุยเช็ก Boiler บ.ซีลิคคอร์พ ส่องสวน 15 นาที ซอยจันทร์จรัส ชมคัดแยกขยะชุมชนการค้าหนองแขม หมู่ 2 จัดระเบียบผู้ค้าหน้าศูนย์การค้าหนองแขม เล็ง โรงไม้ 110 ทำ Hawker Center ริมถนนเพชรเกษม
วันที่ 9 มี.ค. 2566 เมื่อเวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่เขตหนองแขม ประกอบด้วย ตรวจเยี่ยมต้นแบบการคัดแยกขยะภายในสำนักงานเขตหนองแขม มีข้าราชการและบุคลากร 150 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้
1.ขยะอินทรีย์ จัดเก็บขยะเศษอาหารและขยะอินทรีย์จากแต่ละฝ่ายมาใส่ในถังหมักรักษ์โลก และใส่ในเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนมกราคม 2566 จัดเก็บขยะเศษอาหารและขยะอินทรีย์ภายในเขตฯ จำนวน 273.2 กิโลกรัม สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 23.2 กิโลกรัม
2.ขยะรีไซเคิล ตั้งวางถังขยะแยกประเภทภายในอาคารทุกชั้น และมีการคัดแยกขยะรีไซเคิลภายในฝ่าย ตั้งวางจุดรับพลาสติก ได้แก่ พลาสติกใส พลาสติกขุ่น และพลาสติกยืด รวมถึงกล่องเครื่องดื่ม UHT บริเวณประตูทางออก ตั้งวางจุดรับพลาสติกกำพร้า บริเวณหน้าบันไดทางขึ้นอาคารด้านหลัง
...
3.ขยะอันตรายและขยะติดเชื้อ ตั้งวางจุดรับทิ้งขยะอันตรายและขยะติดเชื้อ บริเวณทางขึ้นบันได ชั้น 1 อาคารด้านหลัง สำหรับปริมาณขยะที่คัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ ดังนี้ เดือนธันวาคม 2565 ขยะอินทรีย์ 68.1 กิโลกรัม ขยะรีไซเคิล 120 กิโลกรัม ขยะทั่วไป 2,400 กิโลกรัม ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 68.1 กิโลกรัม ผลิตน้ำขยะหอม 100 กิโลกรัม เดือนมกราคม 2566 ขยะอินทรีย์ 71 กิโลกรัม ขยะรีไซเคิล 120 กิโลกรัม ขยะทั่วไป 2,400 กิโลกรัม ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 71 กิโลกรัม ผลิตน้ำขยะหอม 60 กิโลกรัม
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้ตรวจเยี่ยมฝ่ายรายได้ ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA TAX) ในการจัดเก็บและบันทึกข้อมูล เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 ขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) นอกจากนี้ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและคำแนะนำในการจัดเก็บภาษีรายได้ ตลอดจนติดตามการจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 66,143 แปลง สำรวจแล้ว 64,387 แปลง คงเหลือ 1,756 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 57,470 แห่ง สำรวจแล้ว 47,717 แห่ง คงเหลือ 9,753 แห่ง ห้องชุด 5,995 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 129,608 รายการ สำรวจแล้ว 118,099 รายการ คงเหลือ 11,509 รายการ
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งใต้ ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) ประเภทน้ำมันดีเซลและประเภทแก๊ส มีกระบวนการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ประกอบกิจการประเภทกาวอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งพิมพ์ งานไม้และยานยนต์ พื้นที่ประกอบการ 900 ตารางเมตร คนงาน 140 คน เครื่องจักร 103 เครื่อง กำลังเครื่องจักรโดยรวม 2,443.80 แรงม้า มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่ 1.ประเภทการผลิต สะสม หรือบรรจุกาว 2.ประเภทโกดังสินค้า นอกจากนี้ เขตฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทหล่อหลอมโลหะ ประเภทคอนกรีตผสมเสร็จ ประเภทกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boilers) ประเภทการต่อ ประกอบ เคาะ ปะผุ พ่นสี หรือพ่นสารกันสนิมยานยนต์ โรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ โดยกำชับให้สถานประกอบการในพื้นที่ปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ร่วมกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณปากซอยเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งใต้ 5/2 (ซอยจันทร์จรัส) เขตฯ ได้พัฒนาพื้นที่ใหม่ที่ว่างบริเวณปากซอยเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งใต้ 5/2 (ซอยจันทร์จรัส) พื้นที่ 114 ตารางวา ซึ่งมีผู้บริจาคให้กรุงเทพมหานครใช้ประโยชน์จากที่ดิน เขตฯ มีแผนดำเนินการปรับปรุงใช้พื้นที่ประมาณ 100 ตารางวา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวน 15 นาที เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนการค้าหนองแขม หมู่ 2 ซอยเพชรเกษม 81/1 เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 13 ไร่ ประชากร 1,187 คน จำนวน 643 ครัวเรือน บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์และอาคารสูง วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกจากแต่ละครัวเรือนภายในชุมชน ขยะจากเศษอาหารคัดแยก นำใส่เครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ เพื่อทำปุ๋ยหมักน้ำหมักชีวภาพและก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชน รวมถึงใช้น้ำหมักชีวภาพล้างทำความสะอาดตลาดอีกด้วย 2.ขยะรีไซเคิล ส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะจากภายในครัวเรือน อาทิ ขวด พลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม ถุงพลาสติก กระดาษ 3.ขยะอันตราย รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทุกครัวเรือนคัดแยกขยะอันตราย และวิธีการห่อบรรจุอย่างถูกต้องและปลอดภัย ก่อนนำไปทิ้งบริเวณจุดทิ้งขยะอันตรายภายในชุมชน เพื่อให้เขตฯ เข้ามาจัดเก็บได้อย่างสะดวก 4.ขยะทั่วไป เป็นขยะที่เหลือจากการคัดแยกภายในครัวเรือน กำหนดให้แต่ละครัวเรือนนำขยะมาทิ้งบริเวณจุดตั้งวางถังขยะของชุมชน สำหรับปริมาณขยะที่คัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ ดังนี้ เดือนธันวาคม 2565 ขยะอินทรีย์ 200 กิโลกรัม ขยะรีไซเคิล 120 กิโลกรัม ขยะทั่วไป 12,000 กิโลกรัม ผลิตน้ำขยะหอม 50 กิโลกรัม เดือนมกราคม 2566 ขยะอินทรีย์ 200 กิโลกรัม ขยะรีไซเคิล 120 กิโลกรัม ขยะทั่วไป 12,000 กิโลกรัม ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 300 กิโลกรัม เขตฯ จัดเก็บขยะ 3 ครั้ง/สัปดาห์
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าศูนย์การค้าหนองแขม ถนนเพชรเกษม เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 7 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 360 ราย ได้แก่ 1.หน้าบริษัท นันยางการทออุตสาหกรรม จำกัด ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 30 ราย 2.หน้าศูนย์การค้าหนองแขม ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 119 ราย 3.หน้าปากซอยเพชรเกษม 79 ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 21 ราย 4.หน้าหมู่บ้านหรรษา ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 160 ราย 5.หน้าวัดอุดมรังสี ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 6 ราย 6.หน้าบริษัท ท่อน้ำไทย จำกัด ถนนเลียบคลองทวีวัฒนา ผู้ค้า 14 ราย และ 7.หน้าสำนักงานบริหารจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ถนนพุทธมณฑลสาย 3 ผู้ค้า 10 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บสิ่งของและทำความสะอาดพื้นที่ เมื่อเลิกทำการค้าในแต่ละวัน นอกจากนี้ให้เขตฯ พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน ตลอดจนย้ายผู้ค้าที่อยู่ติดถนนใหญ่หรือปากซอยเข้าไปอยู่ด้านใน รวมถึงสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้ย้ายมาทำการค้าในจุด Hawker Center ที่เขตฯ ดำเนินการ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ต่อไป
สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณศูนย์อาหารโรงไม้ 110 ถนนเพชรเกษม เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ซึ่งบริเวณดังกล่าว มีพื้นที่ 8 ไร่ สามารถรองรับผู้ค้าได้ 250 แผงค้าขึ้นไป ผู้ดูแลศูนย์อาหารโรงไม้ 110 พร้อมให้ความร่วมมือกับทางเขตฯ ในการจัดระเบียบผู้ค้า โดยจะจัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่กำหนด สำหรับ Hawker Center เป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำ Hawker Center โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ รวมถึงการพูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าในพื้นที่ให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในบริเวณดังกล่าว
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางมณีวรรณ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการเขตหนองแขม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตหนองแขม สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักเทศกิจ ชาวชุมชนการค้าหนองแขม หมู่ 2 และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี