มท.เตรียมประกาศขยายประเภทอาคาร ที่นำมาทำธุรกิจที่พัก พร้อมอนุญาตให้นำแพ เต็นท์ กระโจม มาประกอบธุรกิจโรงแรมภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัย ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง

วันที่ 9 มี.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลโรงแรมที่พัก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการขนาดเล็ก ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว เกิดความคิดสร้างสรรค์นำศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นมาดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเมืองรอง ขณะที่นักท่องเที่ยวมีทางเลือกหลากหลาย ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย

กฎหมายที่กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงมี 2 ฉบับ โดยฉบับแรก เป็นกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฯ ฉบับปี 2551 โดยกำหนดให้สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกัน หรือหลายอาคารรวมกัน ไม่เกิน 8 ห้อง และมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมด ไม่เกิน 30 คน เมื่อได้แจ้งให้นายทะเบียนทราบ และนายทะเบียนได้ออกหนังสือรับแจ้งแล้ว สามารถเป็นสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 ได้ โดยส่วนนี้เป็นการขยายจากเดิม ที่อนุญาตเฉพาะสถานที่ที่มีห้องพักรวมกันไม่เกิน 4 ห้อง และมีผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน และเพิ่มเติมให้หนังสือรับแจ้ง มีอายุ 5 ปี ให้สอดคล้องกับใบอนุญาตธุรกิจโรงแรมที่มีอายุ 5 ปี เช่นกัน เพื่อให้มีการตรวจมาตรฐานต่างๆ ก่อนต่อใบอนุญาตอย่างต่อเนื่อง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การขยายประเภทอาคารให้ใหญ่ขึ้นนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำอาคารที่มีเอกลักษณ์ทรงคุณค่าในแต่ละท้องถิ่น มาทำธุรกิจได้มากขึ้น เป็นการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่ของชุมชนให้คงอยู่ เกิดความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการเชื่อมโยงเรื่องราวของท้องถิ่นกับที่พัก ซึ่งในเมืองรองหลายแห่งมีทั้งอาคารเก่าแก่ และมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอยู่จำนวนมาก ที่สามารถนำมาถ่ายทอดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้

...

นอกจากนี้ กฎกระทรวงฯ ได้เพิ่มเติมการอนุญาตให้นำอาคารที่มีลักษณะเป็นแพ และอาคารที่มีลักษณะพิเศษ เช่น เต็นท์ กระโจม มาประกอบธุรกิจโรงแรมได้ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามาดึงดูดการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันการให้บริการต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัยสำหรับผู้พัก เช่น อาคารสำหรับใช้เป็นโรงแรมที่มีลักษณะเป็นแพ ต้องจัดให้มีเครื่องลอยน้ำหรือเสื้อชูชีพ เต็นท์ กระโจม ต้องจัดให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอในห้องพักและบริเวณทางเดิน และได้เพิ่มข้อกำหนดกรณีห้องพักที่ให้บริการแบบห้องพักรวม โดยคิดค่าบริการเป็นรายคน (Hostel) ต้องจัดให้มีเลขประจำเตียงกำกับไว้ทุกเตียงเป็นเลขอารบิก เพื่อให้สามารถกำกับดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าพักแต่ละราย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับการอนุญาตให้นำอาคารที่มีลักษณะพิเศษข้างต้นมาประกอบธุรกิจโรงแรมได้ กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎหมายฉบับที่ 2 คือ กฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. .... โดยกำหนดบทนิยาม “อาคารลักษณะพิเศษ” ที่อนุญาตให้นำมาประกอบธุรกิจโรงแรมได้ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน อาคารที่มีการก่อสร้างอาคารหลากหลายรูปแบบมาเป็นโรงแรม ไม่ว่าจะเป็น บังกะโลชั้นเดียว แบ่งเป็นห้อง ตู้คอนเทนเนอร์ แพที่อยู่ตามเขื่อนต่างๆ บ้านต้นไม้ เต็นท์แบบเป่าลม เป็นต้น

พร้อมกับกำหนดให้ผู้ประกอบการ ที่ใช้อาคารลักษณะพิเศษดังกล่าวประกอบธุรกิจโรงแรม ต้องดำเนินการตามที่กำหนด ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างของโรงแรม ระบบป้องกัน และระงับอัคคีภัย ระบบทางหนีไฟ ลักษณะภายในและภายนอกของอาคาร และการนำอาคารลักษณะพิเศษมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมด้วย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของอาคารและความปลอดภัย

สำหรับความคืบหน้าของการปรับปรุงกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ล่าสุดได้ผ่านการอนุมัติหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว เหลือขั้นตอนการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป.