"พล.อ.ประวิตร" ถก วง กพย. หนุน การพัฒนาที่ยั่งยืน ชมบริษัทไทย ติดอันดับความยั่งยืน ระดับ Gold Class มากเป็นอันดับ 1 ของโลก มอบสภาพัฒน์ฯ นำร่างประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เสนอ ครม. ต่อ

วันที่ 8 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ครั้งที่ 1/2566 มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาครัฐและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง โดยประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand’s SDG Roadmap) อาทิ การเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายย่อยของ SDGs (SDG Targets) กับเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) ของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และการเชื่อมโยงเป้าหมายหลัก SDGs ไว้ในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ซึ่งทำให้การขับเคลื่อน SDGs สามารถดำเนินร่วมไปกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติได้ การจัดเสวนาวิชาการและนิทรรศการก้าวพอดี ประจำปี 2565 ภายใต้หัวข้อ "พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน"

ซึ่งได้สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ SDGs ให้แก่สังคม และการร่วมกันจัดทำแผนที่การลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นำไปสู่การเพิ่มโอกาสในการลงทุนอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ.... ที่จะนำไปสู่การจัดตั้งกลไกเชิงนโยบายและการกำกับดูแลเครื่องมือ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานขึ้น และที่ประชุมฯ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำร่างระเบียบดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

...

ทั้งนี้ SEA ถือเป็นเครื่องมือที่จะสนับสนุนการจัดทำแผนของหน่วยงานรัฐที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs ในช่วงที่ผ่านมาภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วนล้วนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs ของไทย อาทิ โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management: PPP Plastics) การจัดการขยะอย่างครบวงจร การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ณ ตำบลดงขี้เล็ก จังหวัดปราจีนบุรี และการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาและการเรียนรู้นอกห้องเรียนเกี่ยวกับ SDGs เพื่อนำไปสู่การบรรจุ SDGs ลงในหลักสูตรการเรียน/การสอน

นอกจากนี้ ผลการดำเนินงาน SDGs ของไทยยังได้รับการยอมรับในระดับสากล อาทิ การมีบริษัทของไทยติดอันดับด้านความยั่งยืนใน Sustainability Yearbook 2023 ของ S&P Global ในระดับ Gold Class มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก รวมถึงติดอันดับ 1 ใน 20 ประเทศที่มีการเปิดเผยรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) มากว่า 90% และ 2 มหาวิทยาลัยของประเทศไทยติด 100 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินการเพื่อสนับสนุน SDGs ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อันดับที่ 16) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อันดับที่ 70)