"วราวุธ" ตบปาก เด็กก้าวไกล วิพากษ์แก้ PM 2.5 ไล่ให้ไปดูเนื้องาน ไม่ใช่เอาแต่พูด สอน ต้องแก้ปัญหาระยะสั้น-ระยะยาวด้วย หลังชงตั้งกำแพงภาษีนำเข้าผลผลิตเกษตร เหน็บ อย่าให้นโยบายฝุ่นของตัวเองแค่มองเห็น แต่จับต้องไม่ได้

เมื่อเวลา 08.55 น. วันที่ 7 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาไฟป่า ว่า ทส.ได้ประกาศปิดอุทยานแห่งชาติในภาคเหนือไป 6-7 แห่ง และได้โยกสรรพกำลังเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระดมไปดูแลไฟป่าที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องงบประมาณการดับไฟป่านั้น ขอทำความเข้าใจว่า เป็นงบของกรมอุทยานฯ ที่ใช้ในการดับไฟป่าในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ระดมอุปกรณ์เฮลิคอปเตอร์เจ้าหน้าที่ เพื่อควบคุมรักษาดับไฟป่าไม่ให้ลุกลาม พยายามไม่ให้เผาไหม้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทส.ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการต่างๆ ขอให้เข้มงวด เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้การเผาไหม้ขยายวงมากขึ้น

นายวราวุธ กล่าวว่า ส่วนกรณี นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้นั้น ต้องขอขอบคุณที่มีการตั้งข้อสังเกตมา แต่อยากให้เข้าไปดูเนื้องานด้วย ไม่ใช่เอาแต่พูดอย่างเดียว เพื่อให้ได้เนื้อข่าวในช่วงสถานการณ์เลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทส.ได้ประสานงานกับทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และขอย้ำว่า เราไม่เคยโทษพี่น้องเกษตรกร หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ ตามที่นายนิติพลเข้าใจผิด ขณะเดียวกัน ไม่เคยบอกว่า เป็นความผิดของบริษัทห้างร้านใหญ่ๆ เพราะเวลาเกิดปัญหาขึ้น มันเป็นความผิดของทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น ต้องแก้ไขร่วมกัน เพราะเมื่อเกิดปัญหา PM 2.5 มันไม่ได้เลือกว่าจะมาที่เกษตรกร ชาติพันธุ์ หรือนายทุนใหญ่

...

"ประเด็นที่นายนิติพลพูดว่า อยากให้มีกำแพงภาษีในการนำเข้าผลผลิตเกษตรนั้น ผมคิดว่าแนวนโยบายที่ถูกต้องและมีวิสัยทัศน์ ควรจะแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวด้วย การที่อยู่ๆ จะไปเพิ่มกำแพงภาษีสินค้าเกษตร เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะเกิดปัญหามากกว่า สิ่งที่นายนิติพลพูดถึงขณะนี้ เกิดขึ้นในกลุ่มสหภาพยุโรป แต่กำแพงภาษีนั้น ยังไม่เกิดขึ้นกับสินค้าเกษตร ดังนั้น เกษตรกรจะต้องปรับตัว และนี่คือสาเหตุว่า ทำไม ทส.จะต้องเดินหน้าในการทำงานเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะทำให้ประชาชนไม่ต้องเผาผลิตที่เหลือจากการเกษตร เช่น ตอซังข้าว ซังข้าวโพด ต้องเข้าใจก่อนว่า จิตวิญญาณของเกษตรกร การเผาคือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เป็นขนบธรรมเนียม แต่จากนี้ไปเขาจะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของโลก ทส.จึงหาแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน" นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องขอบคุณนายนิติพลที่เสนอข้อสังเกตมา ตนเองไม่ได้ทำตัวเป็นฝุ่น และขอฝากว่า สิ่งที่นายนิติพลพูดมานั้น ขออย่าให้เป็นนโยบายฝุ่นก็แล้วกัน คือ มองเห็นแต่จับต้องไม่ได้.