ครม. อนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยฤดูฝน 2565 เพิ่มเติม ในพื้นที่ กทม. และ 15 จังหวัด จำนวน 237,048 ครัวเรือน วงเงิน 1,190.46 ล้านบาท สั่งจ่ายเงินให้เสร็จภายใน 60 วัน
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้จ่ายเงิน ช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 เพิ่มเติม สำหรับกรณีพื้นที่ประสบอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2565 - 31 มกราคม 2566 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 15 จังหวัด (ได้แก่ ชุมพร ตรัง นครปฐม นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พัทลุง ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี และอ่างทอง) ซึ่งต้องไม่เป็นครัวเรือนที่ได้รับความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 ตามมติ ครม. (29 พ.ย. 65) จากการสำรวจเบื้องต้น มีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในพื้นที่ กทม. และ 15 จังหวัด จำนวน 237,048 ครัวเรือน วงเงิน 1,190.46 ล้านบาท
หลักเกณฑ์การเยียวยาฯ
- 24 ชั่วโมง - 7 วัน จำนวน 193,802 ครัวเรือน อัตราจ่าย 5,000 บาท วงเงิน 969.01 ล้านบาท
- เกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน จำนวน 40,808 ครัวเรือน อัตราจ่าย 5,000 บาท วงเงิน 204.04 ล้านบาท
- เกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน จำนวน 2,265 ครัวเรือน อัตราจ่าย 7,000 บาท วงเงิน 15.86 ล้านบาท
- เกินกว่า 60 วัน จำนวน 173 ครัวเรือน อัตราจ่าย 9,000 บาท วงเงิน 1.56 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเคยมีมติให้ความช่วยเหลือไว้แล้วแต่ยังคงมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และการระบายน้ำ ในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 65 - 31 ม.ค. 66 โดยเป็นจังหวัดที่เคยได้รับความช่วยเหลือตามมติ ครม. (29 พ.ย. 65) แต่คนละพื้นที่จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร อ่างทอง ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ระนอง สตูล สุราษฎร์ธานี และชุมพร และจังหวัดที่ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กทม. ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พัทลุง ยะลา และสงขลา จึงได้อนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยฤดูฝน 2565 เพิ่มเติม เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำรวจ หรือผู้ประสบภัยยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือภายใน 30 วัน และให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับ ธนาคารออมสิน เร่งรัดการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติด้วย
...