รองนายกฯ “ประวิตร” ประชุมแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ขับเคลื่อนแผนอนุรักษ์พะยูน ระยะ 2 เผยข่าวดี ทรัพยากรทางทะเลแนวโน้มดี สัตว์ทะเลหายาก ปะการัง ป่าชายเลนสมบูรณ์ขึ้น พร้อมหนุนประชาชนมีส่วนร่วม
วันนี้ 23 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้ง 1/2566 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิภาครัฐและภาคประชาชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
พลเอกประวิตร กล่าวในการประชุมว่า วันนี้มีวาระสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการหลายเรื่อง โดยเฉพาะการพิจารณามอบหมายให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เร่งดำเนินการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนฯ ในระยะที่ 2 ต่อเนื่องกับแผนอนุรักษ์พะยูนฯ ในระยะที่ 1 ที่ได้ผลดี จนได้ประกาศกฎกระทรวงประกาศให้แหล่งอาศัยของพะยูนในอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่คุ้มครองและได้จัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์พะยูนฯ ออกลาดตระเวนครบทั้ง 13 พื้นที่ สามารถช่วยชีวิตพะยูนเกยตื้นได้ 5 ตัว จากการเกยตื้นแบบมีชีวิตทั้งสิ้น 6 ตัว อีกทั้งนำปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินแผนงานระยะที่ 1 ไปปรับใช้เพื่อจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนฯ ระยะที่ 2 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
...
ส่วนการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ได้ดำเนินการแล้วระยะทาง 733.62 กิโลเมตร จากพื้นที่ชายฝั่งที่ประสบปัญหาการกัดเซาะ จำนวน 822.81 กิโลเมตร เหลือเพียงระยะทาง 89.19 กิโลเมตร ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แบ่งเป็นพื้นที่กัดเซาะรุนแรง ระยะทาง 11.11 กิโลเมตร พื้นที่กัดเซาะปานกลาง ระยะทาง 45.03 กิโลเมตร พื้นที่กัดเซาะน้อย ระยะทาง 33.05 กิโลเมตร
ขณะเดียวกันในปีที่ผ่านมา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอเพื่อให้พิจารณากลั่นกรองโครงการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทั้งสิ้น 48 โครงการ โดยมี 11 โครงการ ที่เห็นควรให้เสนอสำนักงบประมาณพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่น พร้อมให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด
ทางด้านสถานการณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น จากการสำรวจพบแนวปะการัง 1.5 แสนไร่ สมบูรณ์มากถึงร้อยละ 52.3 และกว่า 280 ชนิด ด้านป่าชายเลนพบเป็นป่าสมบูรณ์ จำนวน 1.74 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก 9 ปีก่อน 2 แสนไร่ ขณะที่สัตว์ทะเลหายาก พบการวางไข่ของเต่าทะเลมากถึง 502 รัง พะยูน 261 ตัวโลมาและวาฬ 3,025 ตัว ถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทย ระบบนิเวศที่สมบูรณ์จะเกื้อหนุนต่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้สร้างอาชีพให้ชุมชน ตลอดจนเป็นแหล่งอาหาร แหล่งทำการประมงของไทย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้าย รองนายกรัฐมนตรี ยังย้ำถึงเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้เป็นระบบ สามารถเชื่อมโยงแก้ไขปัญหาได้ในทุกมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืน หากมีประเด็นที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ในด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้เร่งเสนอคณะกรรมการพิจารณา เพื่อจะได้ขับเคลื่อนการทำงานได้อย่างต่อเนื่องเป็นระบบและทันต่อสถานการณ์ต่อไป.