ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นมาซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจอีกกระทอก ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านจิตวิทยา
ย่ำแย่ลงทันตาก็มีคำถามถึงกระทรวงพลังงานว่า ทำไมราคาน้ำมันตลาดโลกเวลานี้ อยู่ที่ประมาณบาร์เรลละ 70 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศกลับอยู่ใกล้เคียงกับเมื่อช่วงที่ราคาน้ำมันโลกสูงทะลุเพดานที่บาร์เรลละ 100 กว่าดอลลาร์สหรัฐฯ
เพ่งเล็งไปที่ภาษีสารพัดชนิดที่เก็บเอาจากน้ำมัน รวมทั้งเงินที่หักเข้ากองทุนน้ำมันด้วย ปรากฏว่า แพงกว่าต้นทุนราคาน้ำมันเสียอีก
ต้นทุนน้ำมันบางประเภทอยู่ที่ลิตรละ 17 บาทกว่าๆ พอขายปลีกหน้าปั๊มกลายเป็นลิตรละ 40 กว่าบาท
เอาเปรียบผู้บริโภคเกินไปหน่อย
ค้ากำไรเกินควร ผมเคยเกริ่นไปแล้วว่า ปัญหาน้ำมันจะเป็นวิกฤติระลอกใหม่ เพราะเวลานี้กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันกำลังสุมหัววางแผนการตลาด และปรับแผนบริหารน้ำมันในอนาคต ระหว่างการกำหนดราคาน้ำมันกับปริมาณการผลิต และทรัพยากรน้ำมันที่เหลืออยู่อย่างจำกัด
แน่นอนว่า เราคงไม่มีข่าวดี
และข่าวร้ายคือ วิกฤติการเมืองไทยยังไม่สงบ ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคมเป็นต้นไป คดีความที่ค้างคากันอยู่จะกลายเป็นชนวนจุดไฟอย่างดี
ทั้งคดีเขาพระวิหาร รายการทุจริตกล้ายาง ปมหุ้น ส.ส. คดีสลายชุมนุมม็อบพันธมิตรฯ วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ไปจนถึงคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทของพรรคประชาธิปัตย์
ออกมุมไหน ยังไงก็หนีไม่พ้นแรงกระเพื่อม
ไม่นับรวมกับความขัดแย้งทางการเมืองที่เพิ่มดีกรีขึ้นทุกวัน โดยมีหัวเชื้อโหมไฟ ทั้งประเด็นการยื้อแย่งโผโยกย้ายนายตำรวจที่กลายเป็นคำตอบสุดท้ายของเกมลับ ลวง พราง ล่อกันเองระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับขุมอำนาจสีเขียวที่โอบอุ้มกันขึ้นมา ไหนจะรายการถวายฎีกา คดียิงแกนนำม็อบพันธมิตรฯ คดีก่อการร้ายปิดสนามบิน ฯลฯ
ถ้าไม่มีข่าวดีอย่างที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ แพลมๆไต๋เอาไว้
สถานการณ์เมืองไทย ไม่ตายก็คงเลี้ยงไม่โต.
...