ดูเหมือนความพยายามของ รัฐบาล กองทัพ ตำรวจ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการสร้างสันติสุขในพื้นที่ปลายด้ามขวานทองให้เกิดความสงบสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูยิ่งห่างไกลและไม่ได้ผล แต่เหมือนยิ่งเติมเชื้อไฟลงไป เพราะนับตั้งแต่ปีใหม่ 2566 จนถึงปัจจุบัน คนร้ายได้ก่อเหตุนับไม่ถ้วน และยิ่งทวีความรุนแรง มีการเลือกเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ และข้าราชการ เป็นเป้าหมายในการสังหาร นอกจากนี้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก

นอกจากนี้ สถานที่ราชการ พื้นที่สัญลักษณ์ วัดวาอาราม โรงเรียน ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่กลุ่มแนวร่วม คนร้าย ต้องการสร้างสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความหวาดกลัว แม้รัฐบาล กองทัพ จะปรับเปลี่ยนยุทธวิถี ปรับแผนในพื้นที่ เปลี่ยนกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อมุ่งหวังดับไฟใต้ไม่ให้ลุกลาม หวังสร้างสันติสุขให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข แต่ก็ยังคลำทางไม่ถูก

จึงต้องหันมาเน้นงานมวลชน พึ่งหวังประชาชนในพื้นที่ช่วยเป็นหูเป็นตากับเจ้าหน้าที่รัฐ หากพบเบาะแสความเคลื่อนไหว ต้องแจ้งให้ทางหน่วยงานความมั่นคงทราบทันที เพื่อเข้าป้องกันเหตุสูญเสีย และทำให้พื้นที่มีความสันติสุขโดยเร็ว

...

ตู่-ป้อม ถก อันวาร์ มุ่งหวังความสงบสุขในพื้นที่ จชต.

และหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เปิดทำเนียบรัฐบาลต้อนรับ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกฯ มาเลเซีย ที่มาเยือนอย่างเป็นทางการ โดยจัดพิธีอย่างสมเกียรติ มีการตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ และปิดห้องตึกภักดีบดินทร์ เพื่อหารือให้พื้นที่ชายแดนร่วมเป็น "แผ่นดินทอง" โดยหวังให้มีความสุขสงบ โดยเฉพาะ 5 จังหวัดภาคใต้ของไทย กับ 4 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย รวมถึงการเจรจาเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และด้านคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพระหว่างกัน เช่น อุตสาหกรรมยางพารา อาหารฮาลาล พลังงาน และในมิติใหม่ๆ เศรษฐกิจดิจิทัล และเทคโนโลยีสีเขียว

ตามด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่มีความสนิทสนมกับ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกฯ มาเลเซีย ได้หยิบยกประเด็นด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต่างเห็นพ้องร่วมกันให้เกิดความสงบ ไม่มีความรุนแรง และเปิดพื้นที่พัฒนาร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยมุ่งมิติทางสังคม วัฒนธรรม และชุมชน ควบคู่ไปกับความมั่นคง ซึ่งจะมีการประสานการทำงานร่วมกันอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น ทั้งหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานด้านการข่าว

ตบหน้าผู้นำก่อเหตุบึมเย้ย 2 ผู้นำระหว่างเจรจา

แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น พร้อมยังมีการก่อเหตุในพื้นที่ เหมือนเป็นการตบหน้ารัฐบาลไทยและมาเลเซีย เพราะกลุ่มนายนัสรู หมัดประสิทธิ์ แกนนำระดับปฏิบัติการ ได้ปฏิบติการเย้ย ในวันที่ผู้นำสองประเทศพบปะกันอย่างเป็นทางการ ด้วยการจุดระเบิดนำ้หนัก 50 กิโลกรัม ระเบิดเส้นทางรถไฟ ที่ อ.รือเสาะ บริเวณป่ารกทึบริมถนน ที่ริมถนนบ้านสาวอฮูลู หมู่ 2 ต.สาวอ จ.นราธิวาส ทำให้เจ้าหน้าที่ ร.151 พัน.1 ชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ได้รับบาดเจ็บ 8 นาย โดยที่เกิดเหตุพบหลุมระเบิดลึก 30 เซนติเมตร รัศมีกว้าง 50 เซนติเมตร มีเศษซากชิ้นส่วนของระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายประกอบใส่ไว้ในถังแก๊ส แล้วจุดชนวนด้วยวิทยุสื่อสาร ตกกระจายเกลื่อนพื้นที่ นอกจากนี้ยังพบปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 ที่เจ้าหน้าที่ ชคต.สาวอ ยิงตอบโต้เพื่อป้องกันกลุ่มคนร้ายบุกเข้ามาโจมตีซ้ำ ตามมาด้วยการยิงอดีตโต๊ะอิหม่ามในพื้นที่ ต.ละหาร อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

ลวง จนท.ติดกับดักระเบิด ยิงซ้ำ ตำรวจดับ 1 เจ็บ 4

นอกจากนี้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะการต้องสูญเสียตำรวจน้ำดีในพื้นที่ ระดับ "สารวัตร" ต้องพลีชีพในหน้าที่ เนื่องจากคนร้ายวางแผนลงมือก่อเหตุช่วงหัวค่ำ พร้อมกระจายกำลังวางเพลิงเผารถเกรดถนน รถแบ็กโฮ รถบดถนน ทั้งของหน่วยทหารช่าง หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 42 (นพค.42) และของบริษัทเอกชน ในพื้นที่ 2 อำเภอ ทั้งธารโต และบันนังสตา 3 จุด เพื่อล่อเจ้าหน้าที่ไปติดกับดักจุดเกิดเหตุ ระหว่างทางได้ซุกระเบิดบรรจุถังแก๊สปิกนิกหนัก 20 กิโลกรัม ฝังไว้ใต้พื้นถนน จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ จนรถเจ้าหน้าที่กระเด็นพลิกคว่ำ จากนั้นจึงได้ซุ่มยิงซ้ำ จนเกิดการปะทะอย่างดุเดือด จนคนร้ายต้องล่าถอยไป ส่งผลให้ พ.ต.ต.ประสาน คงประสิทธิ์ สารวัตรสืบสวน (สว.สส.) สภ.บันนังสตา เสียชีวิต และเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บอีก 4 นาย ประกอบด้วย 1.ส.ต.อ.ภาสกร คำดี 2.จ.ส.ต.สุวิทย์ ธนะวงศ์ 3.ส.ต.อ.สุทัศน์ มูลเงิน และ 4.ส.ต.อ.ไกรสีห์ โรจโนดม ผบ.หมู่ สส.สภ.บันนังสตา ซึ่งคาดว่าเป็นฝีมือแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ

ไร้ความเกรงกลัว เข้าปฏิบัติการโจมตีฐานทหาร ก่อเหตุรายวัน

แม้แต่ฐานปฏิบัติการทหาร คนร้ายก็ไม่เกรงกลัว ยุยงเยาวชนรุ่นใหม่ที่เป็นแนวร่วม เปิดศึกกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยการท้าทาย ขว้างระเบิดไปป์บอมบ์ใส่ และใช้อาวุธปืนยิงใส่ด้านหลังฐานปฏิบัติการชุดเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านบาตู หมู่ 6 ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ ในที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบร่องรอยระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์ 2 จุด โดยระเบิดที่เก็บได้มีน้ำหนักประมาณ 0.5 กิโลกรัม โดยกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่บริเวณหน้าด่านตรวจ สามารถบันทึกภาพพฤติกรรมของคนร้ายเอาไว้ได้ และพบว่าด่านตรวจแห่งนี้เคยถูกยิงถล่มด้วยอาวุธปืนสงครามมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อปี 2561 โดยกลุ่มคนร้ายมีเป้าหมายเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัว

เพราะในช่วงที่ผ่านมาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เกิดเหตุร้ายรายวันต่อเนื่อง และพบว่าส่วนหนึ่งเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงรุ่นใหม่ที่เป็นเยาวชน ซึ่งได้ผ่านการฝึกมาแล้ว และได้รับคำสั่งให้ออกมาทดลองปฏิบัติการจริง

ขณะที่ 31 ม.ค. 66 คนร้ายก่อเหตุขว้างระเบิดแสวงเครื่องชนิดไปป์บอมบ์น้ำหนักประมาณ 700-800 กรัม ถล่มฐานปฏิบัติการเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน (อส.) ชุดคุ้มครองเมือง อ.ยะหา จ.ยะลา หรือชุดปฏิบัติการพิราบขาว (ชป.พิราบขาว) ตั้งอยู่ริมถนนสายยะหา-ปะแต อ.ยะหา โดยขว้างระเบิดใส่จำนวน 3 ลูก ได้รับความเสียหาย โดยมีเจ้าหน้าที่ อส.ได้ยิงตอบโต้คนร้ายจนล่าถอยไป

เลือกเป้าหมายมุ่งสังหาร จนท.รัฐ ลอบระเบิดจุดชนวนด้วยรีโมต

ตามมาด้วย 2 คนร้ายขับขี่รถจักรยานยนต์โฉบเข้าไปบริเวณบ้านโต๊ะตีแต หมู่ 1 ต.ตันหยงจึงงา อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี แล้วขว้างระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์ใส่ฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 4216 กรมทหารพรานที่ 42 (ร้อย ทพ.4216) แรงระเบิดทำให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) อส.ทพ.ศิริศักดิ์ หนูมาก ได้รับบาดเจ็บ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลยะหริ่ง หลังก่อเหตุคนร้ายได้ขับขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีไป เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ต้องการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบรายวัน

โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ศรีสาคร คนร้ายวางระเบิดแสวงเครื่องประกอบใส่ไว้ในถังแก๊สปิกนิก หนัก 25 กก. จุดชนวนด้วยรีโมต ใส่เจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองตำบลศรีสาคร (ชคต.ศรีสาคร) จำนวน 8 นาย ที่เดินทางกลับจากปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยโรงเรียนบ้านไอร์แยง บริเวณริมถนนในหมู่บ้านไอร์แยง ม.3 ต.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ก่อนเปิดฉากยิงถล่มซ้ำ ทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 นาย ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย โดยอานุภาพของระเบิด ทำให้ดินกระจัดกระจายเป็นวงกว้าง 2 เมตร และมีซากเศษชิ้นส่วนของระเบิดตกกระจายเกลื่อนพื้นถนน พร้อมปลอกกระสุนปืนลูกซอง ปืนอาก้าตกอยู่จำนวนมาก และก่อนที่คนร้ายหลบหนีได้เอาอาวุธปืน M-16 A1 ของ จนท.ไปด้วย 1 กระบอก

วัลลภ เดินหน้าพูดคุย ปักธงสันติสุขจะต้องเกิดขึ้นอันใกล้นี้

ขณะที่ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เผยมั่นใจกระบวนการพูดคุยฯ ต้องเดินหน้าต่อไป แม้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ เพราะกระบวนการพูดคุยฯ เป็นนโยบายรัฐบาลอยู่ในแผนงานที่ได้วางไว้ ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระยะข้างหน้าก็ตาม โดยในระยะเวลาที่เหลืออยู่เราจะดำเนินการอย่างเต็มที่ตามที่เราได้วางแผนเอาไว้ ก็แล้วแต่นโยบายของพรรคการเมือง หรือว่าความต้องการของประชาชนในพื้นที่อาจมีความแตกต่างหลากหลาย เช่น เรื่องเขตปกครองพิเศษ เรื่องการกระจายอำนาจ

กระทั่งเมื่อ 21 ก.พ. 2566 พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ได้พบหารือและพูดคุยกับคณะผู้แทน BRN นำโดย อุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน แบบเต็มคณะ ครั้งที่ 6 ที่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมี พลเอก ตันศรี ดาโตะซรี ซุลกีฟลี ไซนัล อะบิดิน เป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งผลการพูดคุยฯ มีความคืบหน้าที่สำคัญในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน และกรอบเวลาที่ชัดเจนในการแก้ไขความขัดแย้ง และนำสันติสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ฝ่ายไทย BRN ร่วมจัดทำแผนลดความรุนแรง แก้ปัญหา สู่สันติสุข

1.คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ และคณะผู้แทน BRN เห็นพ้องที่จะร่วมกันจัดทำ "แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม" หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพูดคุยให้คืบหน้าในรูปแบบที่ครอบคลุมและเป็นองค์รวม อีกทั้งมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของหลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (General Principles of the Peace Dialogue Process) โดย JCPP จะมีเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วน คือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน เพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง

2.คู่พูดคุยเห็นชอบกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ JCPP เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในปี 2566 และปี 2567 ซึ่งทั้งสองฝ่ายคาดหวังว่าจะสามารถบรรลุฉันทามติในการยุติความขัดแย้ง และนำข้อสรุปที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา และนำสันติสุขที่ถาวรสู่พื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

จ่อพูดคุยเต็มคณะ มิ.ย.นี้ มั่นใจจะบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

3.คู่พูดคุยได้มอบหมายให้คณะทำงานทางเทคนิคของแต่ละฝ่ายนัดหมายจัดการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างไม่เป็นทางการในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2566 เพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของ JCPP ให้เสร็จสิ้น และนำเสนอต่อการพูดคุยแบบเต็มคณะในเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อเริ่มต้นขั้นการปฏิบัติต่อไป



4.คู่พูดคุยต่างแสดงความยินดีต่อผู้อำนวยความสะดวกในโอกาสเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงในการปฏิบัติงานของตันศรี ซุลกีฟลีฯ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้คู่พูดคุยบรรลุความเห็นพ้องเบื้องต้นเกี่ยวกับ JCPP ในการพูดคุยฯ ครั้งนี้ และจะมีส่วนช่วยให้การจัดทำและการปฏิบัติตาม JCPP ในระยะต่อไปเป็นไปอย่างราบรื่นตามกรอบเวลา

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ขอยืนยันเจตนารมณ์ในการเดินหน้าการพูดคุยฯ อย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล และขอเชิญชวนประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนให้แก่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

ขณะที่ ฝ่ายมาเลเซีย นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกฯ เชื่อมั่นว่าจะสามารถการแก้ปัญหาความไม่สงบ และความรุนแรงที่มีอยู่ให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตามสุดท้ายการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การมีสันติภาพในพื้นที่ ถือเป็นหน้าที่ทุกฝ่ายที่ต้องร่วมไม้ร่วมมือ เพราะเป็นความคาดหวังของทุกคน.