โฆษกรัฐบาล เผยผลสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปี 2565 ไทยอันดับโดยรวมดีขึ้น 9 อันดับ อยู่ที่ 101 ของโลก และอันดับ 4 ของอาเซียน ย้ำ นายกฯ ให้ความสำคัญแก้ไขทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2565 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับ 101 ของโลก จาก 180 ประเทศทั่วโลก มีคะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 36 คะแนน ดีขึ้นจากปี 2564 ที่อยู่อันดับ 110 ได้ 35 คะแนน ถือเป็นอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศอาเซียน 

โฆษกรัฐบาล กล่าวต่อไปว่า ปี 2565 ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริตของไทยเป็นการประเมินจาก 9 แหล่งข้อมูล โดยไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (พ.ศ.2564) 2 แหล่ง คือ

  • IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) เพิ่มขึ้นจาก 39 เป็น 43 คะแนน
  • World Economic Forum (WEF) เพิ่มขึ้นจาก 42 เป็น 45 คะแนน


ในขณะที่แหล่งข้อมูลที่คะแนนคงที่มี 5 แหล่ง คือ

  • Varieties of Democracy Institute ที่ 26 คะแนน
  • Bertelsmann Foundation Transformation Index ที่ 37 คะแนน
  • Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings ที่ 37 คะแนน
  • Global Insight Country Risk Ratings ที่ 35 คะแนน
  • PRS International Country Risk Guide ที่ 32 คะแนน


ส่วนแหล่งข้อมูลที่ได้รับคะแนนลดลงจากปีก่อน 2 แหล่ง คือ

  • The Political and Economic Risk Consultancy ลดลงจาก 36 เป็น 35 คะแนน
  • World Justice Project Rule of Law Index ลดลงจาก 35 เป็น 34 คะแนน

...


สำหรับการรวบรวม CPI ครอบคลุมการคอร์รัปชันของภาครัฐ อาทิ การติดสินบน การแปลงงบประมาณ (Diversion of public funds) เจ้าหน้าที่ใช้สำนักงานของรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ต้องเผชิญกับผลที่ตามมา ความสามารถของรัฐในการควบคุมการทุจริตในภาครัฐ กฎหมายที่รับรองว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินและผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และการคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับผู้ที่รายงานกรณีการติดสินบนและการทุจริต เป็นต้น

ในช่วงท้าย นายอนุชา ระบุด้วยว่า “นายกฯ ให้ความสำคัญและผลักดันการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ บรรจุแนวทางการแก้ไขไว้ในทุกระดับ ทั้งระดับชาติ จนไปถึงแผนระดับรอง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งสั่งการและกำชับให้แก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและจริงจังมาโดยตลอด รวมทั้งกำชับการทำงานของทุกหน่วยงาน ให้ทำงานด้วยความโปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จากการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ สร้างความตื่นตัวให้ภาคประชาชนในการจับตามองการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ”