ในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยอมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.ที่แก้ไขใหม่ ที่ระบุว่า การแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้จำนวนราษฎรทั่วประเทศ ตามหลักฐานทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีเลือกตั้ง นับเฉพาะคนสัญชาติไทย หรือรวมคนต่างด้าวด้วย
มีหลายฝ่ายท้วงติง เกรงว่าการเลือกตั้งอาจเป็นโมฆะ ถ้านับรวมคนต่างด้าวด้วย กกต.จึงยอมให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน และมีอีกหลายเรื่องที่ กกต.ควรชี้ให้ชัดเจน เช่นการลงพื้นที่หาเสียง โดยเฉพาะของพรรคที่ผู้นำพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี รองนายก รัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี มีเสียงวิจารณ์ใช้อำนาจรัฐหรือไม่
กกต.ควรชี้แจงให้ชัดเจน นับแต่ กกต.ออกข้อกำหนดวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง 180 วัน ก่อนสิ้นอายุสภาผู้แทนราษฎร “กฎเหล็ก” มีข้อห้ามผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เหมือนกับหลังประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งหรือไม่ ห้ามให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดหรือไม่
การให้สัญญาของพรรคต่างๆ ในนโยบายหาเสียงเลือกตั้งขณะนี้เข้าข่ายเป็นความผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ เช่น บางพรรคสัญญาว่าจะเพิ่มเงินผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐ จากเดือนละ 200-300 บาท เป็น 700 บาท เพื่อทำให้คนไทยหายจนทันที 20 ล้านคน บางพรรคสัญญาจะเพิ่มค่าแรงขั้นตํ่า เป็นวันละ 600 บาทใน 7 ปี
พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งคาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นผู้สมัครนายกรัฐมนตรี ถูกหลายพรรคโจมตี กรณีเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ รองโฆษกรัฐบาลต้องชี้แจงว่าเป็นเงินที่กระทรวงมหาดไทย ตกลงจะเพิ่มให้ อบต.ตั้งแต่ปี 2562 แต่ต้องระงับไปเพราะโควิด
เมื่อวิกฤติโควิดคลี่คลายลง จึงหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ นายกสมาคม อบต.แห่งประเทศไทยชี้แจงว่า อบต.ไม่ได้เพิ่มค่าตอบแทนมา 15 ปีแล้ว จึงขอความช่วยเหลือจากนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีมหาดไทย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้ง จึงถูกเพ่งเล็ง เพราะรัฐบาลมีอำนาจเอื้อการเลือกตั้ง
...
คณะรัฐมนตรีจะต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ เมื่อสิ้นอายุของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 23 มีนาคม หรือเมื่อมีการยุบสภา รัฐบาล “รักษาการ” ถูกห้ามกระทำการหลายอย่าง ห้ามอนุมัติโครงการใหม่ๆในช่วงหาเสียง ห้ามอนุมัติใช้จ่ายงบสำรองฉุกเฉิน ห้ามใช้ทรัพยากรรัฐเอื้อการเลือกตั้ง ห้ามใช้ภาษีประชาชนซื้อเสียงประชาชน.