พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ปลุกหน่วยงานรัฐ ร่วมขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ใช้ ระบบ TPMAP รองรับข้อมูล หลังเป็นประธานประชุม คกก.ขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 


วันที่ 3 ก.พ. 2566 เมื่อเวลา 10.00 น. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meeting)

นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการร่วม กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าจากการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ในระยะต่อไป โดยใช้ระบบ TPMAP เป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินงาน

ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบกลุ่มเป้าหมายการดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ (1) กลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน (คนที่ตกเกณฑ์ MPI) จำนวน 655,365 คน ประกอบด้วย คนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 211,739 คน และคนที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 443,626 คน

(2) กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ซึ่งเป็นครัวเรือนที่มีบุคคลในภาวะพึ่งพิงที่ต้องได้รับความช่วยเหลือและดูแลจากครอบครัว เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น และ/หรือเป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี ไม่เกิน 100,000 บาท)

...

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ ศจพ. ทุกระดับ และทีมปฏิบัติการฯ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการช่วยเหลือและพัฒนากลุ่มเป้าหมายตามแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมอบหมายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ศจพ. ทุกระดับ ทีมปฏิบัติการฯ และภาคีการพัฒนาในพื้นที่เร่งดำเนินการตาม 4 แนวทาง ดังนี้

แนวทางที่ 1 การเติมเต็ม ข้อมูลในระบบ TPMAP หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาและปรับปรุงข้อมูลประชากร สถิติ สถานการณ์ที่เชื่อมโยงกับเลขบัตรประชาชน และศจพ. ทุกระดับ ทีมปฏิบัติการฯ เติมเต็มข้อมูลในระบบ Logbook และระบบจัดเก็บข้อมูลแบบสอบถามเพื่อการพัฒนาคนตามหลัก MPI ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งจัดทำคำนิยามการดำเนินการต่างๆ ให้มีความเป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ

แนวทางที่ 2 ร่วม แก้ไขปัญหาในระดับ บุคคล/ครัวเรือน ดำเนินการช่วยเหลือ/พัฒนากลุ่มเป้าหมายร่วมกัน โดยบันทึกข้อมูลการดำเนินการบนระบบ

แนวทางที่ 3 ร่วม แก้ไขและพัฒนาเพื่อความยั่งยืน กำหนดการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนในทุกช่วงวัยเป็นวาระจังหวัดอย่างจริงจัง โดยใช้ข้อมูลจาก TPMAP เพื่อจัดทำโครงการฯ ตามแนวทางของมติ ครม. วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 และวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ทั้งนี้ ในการดำเนินการตามแนวทางที่ 2 และ 3 จะต้องประยุกต์ใช้ข้อมูลจากเมนูแก้จนประกอบการดำเนินการ และเร่งบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินการพัฒนาต้นแบบ ศจพ. นำร่องระดับตำบล โดยใช้ข้อมูล TPMAP

และแนวทางที่ 4 ร่วม ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล ติดตามกลุ่มเป้าหมาย พ.ศ. 2565 เพื่อให้ได้รับการพัฒนาตามขั้นของการพัฒนา รวมทั้ง นำเข้าข้อมูลการดำเนินการ ของการพัฒนาของคนหรือครัวเรือน ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ ในระบบ Logbook และรายงานความก้าวหน้าของโครงการ/การดำเนินการ ในระบบ eMENSCR และเร่งดำเนินการพัฒนาระบบ TPMAP โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาของแผน

พลเอกประวิตร กล่าวว่า ผลการประชุมในวันนี้ ขอให้ ศจพ. ทุกระดับ และทีมปฏิบัติการฯ ในพื้นที่ รวมทั้งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินการ แก้ไขปัญหาความยากจน และการพัฒนาคนทุกช่วงวัยร่วมกันอย่างบูรณาการโดยใช้ข้อมูลจากระบบ TPMAP เป็นเครื่องมือในการชี้เป้า การแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยเป็นการดำเนินการ แบบพุ่งเป้า นำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง