ทุกวันที่ 3 ก.พ. ของทุกปี "กองทัพ" จะเชิดชูและให้ความสำคัญต่อทหารผ่านศึก ที่ถือเป็นผู้ที่ได้ทำหน้าที่สำคัญในการปกป้องอธิปไตยและรักษาความมั่นคงของชาติบ้านเมือง
จากผลงานแห่งความองอาจกล้าหาญที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้นับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการทำสงครามในสมรภูมิใด เหล่าทหารผ่านศึกทุกท่านไม่เคยย่อท้อ ไม่เคยหวั่นเกรงต่ออริราชศัตรู ประเทศของเราจึงมีวีรบุรุษ ที่ควรค่าแก่การยกย่องทหารเหล่านี้
เพราะจากศึกสงครามเกิดขึ้นมาหลายสมรภูมิ ทหารที่ออกทำการสู้รบถือเป็นวีรบุรุษ เปรียบเสมือนตัวแทนแห่งความกล้าหาญและเสียสละอย่างแท้จริง เพราะทหารทุกนายต้องเอาชีวิตเข้าแลก และรู้ตัวเองดีว่าเมื่อออกสู่สนามรบแล้ว อาจจะได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือพิการทุพพลภาพ แต่ไม่ได้ทำให้เกิดความหวั่นเกรงแต่อย่างใด
ดังนั้น เกียรติประวัติแห่งความกล้าหาญ ซึ่งวีรบุรุษทหารผ่านศึกรุ่นแล้วรุ่นเล่าได้กระทำเพื่อชาติบ้านเมือง มิเพียงได้รับการจารึกอยู่ตามอนุสาวรีย์นักรบต่างๆ เท่านั้น แต่ยังจารึกอยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทยไปตราบนานเท่านาน
...
และเพื่อเป็นการตอบแทนคุณงามความดีของทหารผ่านศึก รัฐบาลจึงได้จัดตั้ง "องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์" ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และทหารนอกประจำการ รวมทั้งผู้ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันประเทศ
ขณะที่ "กองทัพบก" โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ได้ให้ความสำคัญต่อทหารกล้าทุกนาย ที่เป็นผู้กล้าเอาเลือดเนื้อชีวิตเข้าแลกเพื่อปกป้องอธิปไตย ประเทศชาติ ให้พ้นจากต่างชาติจนเป็นเอกราชอยู่ทุกวัน จึงกำหนดใช้พื้นที่กองบัญชาการกองทัพบก จัดสร้าง กำแพงประวัติศาสตร์ พร้อม "จารึกชื่อ" 4,681ทหารกล้า ที่เสียสละเลือดเนื้อและชีวิต ปกป้องผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมประกอบด้วย
1. สงครามโลกครั้งที่ 1 เสียชีวิต 19 ศพ สยามได้ส่งกองกำลังทหารอาสาเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อ พ.ศ. 2461 โดยได้ปฏิบัติภารกิจด้วยความกล้าหาญ ฝรั่งเศสได้มอบเหรียญครัวซ์ เดอ แกรร์ ประดับธงชัยเฉลิมพล ครั้นเมื่อสงครามยุติลงในปี พ.ศ. 2462 กองทหารอาสาได้ร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะที่ ฝรั่งเศส อังกฤษ และเบลเยียม อีกทั้งได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในการก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ และแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมสำเร็จ
2. กรณีพิพาทอินโดจีน จำนวน 129 ศพ ในห้วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้ตอบโต้การรุกล้ำอำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศส พ.ศ. 2483 อันมีวีรกรรมการรบที่สำคัญ เช่น การรบที่บ้านพร้าว และการรบที่หมู่บ้านตำหนักพระแสง เมื่อกรณีพิพาทอินโดจีนยุติลงใน พ.ศ. 2484 ด้วยการจัดทำข้อตกลงพักรบและการลงนามในอนุสัญญาสันติภาพ จึงกำหนดเส้นเขตแดนขึ้นใหม่ โดยไทยได้รับดินแดนบางส่วนกลับคืนมาจากฝรั่งเศส
3. สงครามมหาเอเชียบูรพา เสียชีวิต จำนวน 684 นาย หลัง ญี่ปุ่น เปิดแนวรบในนามสงครามมหาเอเชียบูรพา รุกเข้าดินแดนไทย เมื่อ พ.ศ. 2484 เพื่อผ่านไปยังอาณานิคมอังกฤษ เวลานั้นไทยยินยอมลงนามในกติกาสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่น และส่งกำลังทหารเข้าร่วมปฏิบัติการ เมื่อสงครามยุติใน พ.ศ. 2488 ไทยคืนดินแดนที่ได้มาจากกรณีพิพาทอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศส รวมทั้งได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
4. สงครามเกาหลี เสียชีวิตจำนวน 130 นาย ไทยส่งกำลังทหารเข้าร่วมกับกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในนามของสหประชาชาติในสงครามเกาหลี เมื่อ พ.ศ. 2493 ซึ่งทหารไทยได้ปฏิบัติการรบด้วยความกล้าหาญที่เขาพอร์คชอป จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "พยัคฆ์น้อย" ภายหลังการลงนามในความตกลงสงบศึกระหว่างฝ่ายกองบัญชาการสหประชาชาติและฝ่ายเกาหลีเหนือและจีน ไทยคงกำลังทหารไว้ 1 กองร้อย จนถึงปี 2515
5. สงครามเวียดนาม เสียชีวิตจำนวน 527 ศพ สถานการณ์ภายในเวียดนามที่ทวีความรุนแรงขึ้นในห้วงสงครามเย็น รัฐบาลเวียดนามใต้ได้ร้องขอความช่วยเหลือทางด้านการทหาร ไทยจึงได้จัดกำลังเข้าร่วมปฏิบัติการภายใต้พิธีสารต่อท้ายสนธิสัญญาการป้องกันและร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2510 อันมีวีรกรรมการรบที่สำคัญ เช่น การรบที่ฟุกโถ และการรบที่ล็อกแอน หลังจากสงครามเวียดนามยุติลงใน พ.ศ. 2516 กองทัพบกได้ขยายกำลัง จนมีความพร้อมในการรักษาสมดุลในเสถียรภาพของภูมิภาค
6. การป้องกันประเทศ เสียชีวิตจำนวน 348 ศพ "กองทัพบก" เตรียมกำลังและใช้กำลังทางบกสำหรับป้องกันประเทศด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน รวมทั้งการลักลอบนำเข้าสิ่งเสพติด สินค้าหลีกเลี่ยงภาษี การลักลอบเข้าเมือง เพื่อดำรงไว้อธิปไตยของชาติ อันมีวีรกรรมการรบที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การรบบ้านร่มเกล้า โนนหมากมุ่น เขาพนมปะ และอีกหลายแห่ง
7. การปราบปรามคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2508-2517 เสียชีวิตจำนวน 2,216 ศพ สถานการณ์โลกในยุคสงครามเย็น ประเทศไทยเกิดการต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นครั้งแรกในวันเสียงปืนแตก 7 ส.ค. 2508 จ.นครพนม ดังนั้น รัฐบาลได้จัดตั้งกองบัญชาการปราบปรามคอมมิวนิสต์ขึ้นมารับผิดชอบ จากนั้น พ.ศ. 2512 แปรสภาพเป็นกองอำนวยการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ต่อมา พ.ศ. 2517 เปลี่ยนชื่อ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน โดยมีกองกำลังผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร
8. การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553 เสียชีวิตจำนวน 7 นาย
9. การปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกองกำลังเฉพาะกิจปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม 976 ไทย/อิรัก พ.ศ. 2546-2547 เสียชีวิต จำนวน 2 ศพ
10. เหตุการความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2547 - 2564 เสียชีวิต จำนวน 619 ศพ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ ได้พัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานด้านการสงเคราะห์มาโดยตลอด ซึ่งการสงเคราะห์มีอยู่ 6 ประเภท ได้แก่ การสงเคราะห์ด้านสวัสดิการและการศึกษา การสงเคราะห์ด้านอาชีพ การสงเคราะห์ด้านการเกษตร การสงเคราะห์ด้านการให้สินเชื่อ การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาล และการสงเคราะห์ด้านการส่งเสริมสิทธิและเกียรติ ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ทหารผ่านศึกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี
นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เชิดชูเกียรติแก่ทหารผ่านศึก โดยเฉพาะในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งเป็นวันทหารผ่านศึก เป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยจะได้ร่วมรำลึกถึงคุณงามความดีและความเสียสละของทหารผ่านศึก ผู้ยอมสละเลือดเนื้อและชีวิตเป็นชาติพลี รวมทั้งให้การยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ทหารผ่านศึกทั้งหลาย ในฐานะที่เป็นผู้ปกป้องประเทศชาติให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวง
โดย พล.อ.สัณทัศน์ นันทิภาคย์หิรัญ ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (ผอ.อผศ.) ระบุว่า จึงได้กำหนดจัดพิธีและกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ชื่องาน เชิดชูเกียรติทหารกล้า 3 กุมภาพันธ์ "วันทหารผ่านศึก" ทั้งมีการประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม ณ มัสยิดมูฮายีรีน (ดินแดง), การประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ ณ วัดบ้านเซเวียร์ (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)
พิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง ณ ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร พิธีถวายเครื่องสังเวยศาลพระภูมิ ณ บริเวณศาลพระภูมิ หน้าที่ทำการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พิธีทางศาสนาพุทธ ณ ห้องชาตินักรบ อาคาร 2 ชั้นที่ 2 องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พิธีจุดไฟอนุสรณ์ความร่วมมือและสามัคคีของทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ณ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
รวมถึงการใช้พื้นที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตั้งแต่เวลา 07.45 น. ของวันที่ 3 ก.พ.66 ในพิธีจุดตะเกียงโบราณ จุดตะเกียงตามประทีป และสักการะอัฐิ ผู้เสียสละชีพเพื่อชาติ ภายในอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึกดีเด่น ประจำปี 2566 ก่อนที่จะวางพวงมาลา โดยเป็นการประกอบพิธีวางพวงมาลาของหน่วยงานราชการต่างๆ สมาคม ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย ตลอดจนทหารผ่านศึกทุกสมรภูมิ ร่วมวางพวงมาลา
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ วางพวงมาลา
เนื่องจากวันทหารผ่านศึกของทุกปี เป็นโอกาสอันดีที่คนไทยทุกคน จะได้ร่วมรำลึกถึง คุณงามความดีและพร้อมใจกัน "สดุดีวีรกรรม" ของเหล่าทหารหาญ ที่ทำให้พวกเราได้อยู่อย่างร่มเย็นมาจวบจนปัจจุบัน
ผู้เขียน : ยุทธจักรเขียว
กราฟิก : Chonticha Pinijrob