โฆษกรัฐบาลเผยภายใต้การบริหารของ “พล.อ.ประยุทธ์” มีผลงานแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเดินหน้าต่อเนื่อง ชี้ บรรเทาผลกระทบประชาชนได้ตรงจุด
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำร่วมกับส่วนราชการต่างๆ มากกว่า 48 ส่วนราชการ มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงขับเคลื่อนแผนงานโครงการขนาดใหญ่ ที่สามารถแก้ไขปัญหาในวงกว้างได้อย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนโครงการไปแล้ว จำนวน 44 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักรวม 1,414 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่รับประโยชน์ 1.48 ล้านไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 319,765 ครัวเรือน ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณในการดำเนินการแล้ว 24 โครงการ อยู่ระหว่างก่อสร้าง เช่น โครงการบรรเทาอุทกภัยนครศรีธรรมราช โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร โดยกรมชลประทาน ช่วยป้องกันพื้นที่น้ำท่วมได้ 61,000 ไร่ แม้ปัจจุบันจะอยู่ระหว่างดำเนินการแต่สามารถช่วยป้องกันบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรได้บางส่วนแล้ว
นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้อนุมัติโครงการสำคัญที่ได้รับการขับเคลื่อนแล้วในช่วงปี 2559-2565 จำนวน 241 โครงการ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 1,371 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 1,400,000 ไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 1,250,541 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 505,828 ครัวเรือน อาทิ ประตูระบายน้ำ ศรีสองรัก จ.เลย (62) อ่างเก็บน้ำลำสะพุง (พรด.) จ.ชัยภูมิ (62) ประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ จ.สกลนคร (62) ปรับปรุง คลองยม-น่าน จ.สุโขทัย (64) คลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา (62) ฟื้นฟูพัฒนา คลองเปรมประชากร (คลองผดุง-คลองรังสิต) (63) อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร จ.กรุงเทพมหานคร (63) บรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน (พรด.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (64) เป็นต้น
...
โฆษกรัฐบาล ระบุต่อไปว่า การดำเนินการของรัฐบาลได้เน้นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่วิกฤติ (Area-Base) ทั่วทั้งประเทศ โดยพิจารณาในทุกมิติ เช่น ด้านศักยภาพการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก โดยมีผลการศึกษารองรับ ไม่มีปัญหาทางสังคมรุนแรง รวมถึงพิจารณาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ออกมาตรการในการรับมือก่อนภัยจะเกิดขึ้นตามฤดูกาล โดยการบูรณาการส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเตรียมความพร้อมและกำหนดกรอบแนวทางและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำท่วมและภาวะน้ำแล้งตลอดมา เช่น การกำหนดมาตรการประจำปีสำหรับรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง อาทิ จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ การวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง การสร้างการรับรู้สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด เป็นต้น
ส่วนมาตรการสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือในฤดูฝน อาทิ ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ การขุดลอกคูคลอง และการกำจัดผักตบชวา เป็นต้น นอกจากการดำเนินการในภาวะปกติของหน่วยงาน ยังมีการจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แก้ปัญหาในภาวะวิกฤติควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เป็นไปอย่างทันสถานการณ์ สามารถช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนได้อย่างตรงจุด สามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว
“รัฐบาลเตรียมแผนรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดยจัดการน้ำทั้งประเทศอย่างเป็นองค์รวมทั้งระบบ และสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาส่งผลให้พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งลดอย่างต่อเนื่อง โดยจากปี 2561 มีปัญหาภัยแล้ง 12,826 หมู่บ้าน 1,199 ตำบล 178 อำเภอ 26 จังหวัด ในขณะที่ปี 2563/64 มีปัญหาภัยแล้งลดลงเป็น 296 หมู่บ้าน 45 ตำบล 10 อำเภอ 5 จังหวัด เช่นเดียวกับความเสียหายจากอุทกภัยที่มีจำนวนลดลง โดยจากปี 2561 มีประชาชนได้รับผลกระทบ 418,338 ครัวเรือน ในขณะที่ปี 2564 ได้รับผลกระทบลดลงเป็น 239,776 ครัวเรือน โดยรัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนต่อไป”