ครม. ไฟเขียวปรับปรุงหลายโครงการเกี่ยวข้องโควิด-19 เงินกู้เหลือจ่าย 766 ล้านบาท จัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์-ฟาวิพิราเวียร์-เรมเดซิเวียร์เพิ่ม พร้อมขยายเวลาจัดหาวัคซีนถึง ก.ย. 2566
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 31 มกราคม 2566 โดย ครม. อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (วงเงิน 500,000 ล้านบาท) จำนวน 4 โครงการ ดังนี้
1. โครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับเตรียมความพร้อมในการรับมือและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยบริการสุขภาพ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ถึงธันวาคม 2565 กรอบวงเงิน 3,995.27 ล้านบาท ซึ่ง สธ. ได้ดำเนินการซื้อยาภายใต้โครงการดังกล่าวครบถ้วนแล้ว และยังมีกรอบเงินกู้เหลือจ่ายประมาณ 766.79 ล้านบาท จึงให้ปรับแผนเพื่อจัดซื้อยาไวรัสเพิ่มเติมจากวงเงินกู้เหลือจ่าย ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) / โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) จำนวน 30 ล้านเม็ด ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) จำนวน 300,000 ขวด (Vial) โดยมุ่งเน้นการซื้อยาโมลนูพิราเวียร์เป็นหลัก และให้ขยายระยะเวลาโครงการเป็นสิ้นสุด มีนาคม 2566
2. โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) สำหรับบริการประชากรไทย จำนวน 60 ล้านโดส ปี 2565 ของกรมควบคุมโรค กรอบวงเงิน 18,639.11 ล้านบาท สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2565 ทั้งนี้ ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิ้นสุดเดือนกันยายน 2566 และให้กรมควบคุมโรคพิจารณาจัดหาวัคซีนในส่วนที่เหลือ กรณีวัคซีนรุ่นใหม่ที่สามารถรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลในการฉีด เข็มกระตุ้นเพื่อสร้างการรับรู้/ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป
...
3. โครงการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขยายการรองรับ การดูแลผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการจนถึงระยะวิกฤติ ระยะเวลาดำเนินการถึงธันวาคม 2565 ให้ขยายระยะเวลาโครงการเป็นสิ้นสุด มิถุนายน 2566
4. โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 (ChulaCov19 mRNA) ที่ผลิตเองในไทย เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1-3 และการผลิตเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ของจุฬาลงกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ปรับแก้ไขชื่อโครงการเป็น โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ChulaCov19 mRNA ที่ผลิตเองในไทย เพื่อทำการทดสอบ ทางคลินิก และการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 รุ่นสอง สำหรับสายพันธุ์ใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง.