“พล.อ.ประวิตร” สั่งการบังคับใช้กฎหมายเร่งปราบปรามการโกงออนไลน์ แก้ไขปัญหาฉ้อโกงประชาชน หากพบเจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยวต้องเอาผิดเฉียบขาด

พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในวันนี้ (30 มกราคม 2566) ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เร่งติดตามการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยออนไลน์รูปแบบใหม่ โดยเฉพาะขบวนการที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการประทุษร้ายต่อเหยื่อ ที่มีผู้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของการเงินนอกระบบ (เช่น แชร์ลูกโซ่ การเล่นแชร์ และการขายตรง) การพนันออนไลน์ การหลอกลวงผ่านคอลเซ็นเตอร์

จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบมาตรการเร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเสนอมาตรการป้องกันปราบปราม มาตรการสืบสวนปราบปราม รวมทั้งการการปรับแก้กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และกำหนดอัตราโทษสูงขึ้นเพื่อดูแลคุ้มครองประชาชน ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา เห็นชอบร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. .... ซึ่งเป็นผลจากการผลักดันของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภายใต้การกำกับของ พล.อ.ประวิตร ได้มีการปราบปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการจับกุม ปราบปราม อย่างเข้มงวดจริงจัง ภายใต้การควบคุมดูแลของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยมีสถิติการจับกุมและดำเนินการทั้งหมด 22 ประเภทคดี นับตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 โดยแบ่งเป็นการรับแจ้งความ 3 อันดับสูงสุด ได้แก่

...

1. การหลอกลวงซื้อขายสินค้า จำนวน 60,236 คดี
2. หลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากกิจกรรม จำนวน 25,544 คดี
3. หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้รับเงิน จำนวน 21,353 คดี

นอกจากนี้ ยังได้มีการอายัดบัญชี จำนวนทั้งสิ้น 64,438 บัญชี อายัดยอดเงินได้ทั้งหมด 436.6 ล้านบาท

พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประวิตร เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสมาคมธนาคารไทย ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการฉ้อโกงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และประชุมต่อเนื่องเป็นประจำติดต่อกัน เพื่อออกมาตรการเร่งด่วนต่างๆ ให้ทันสถานการณ์

ทางด้าน พล.อ.ประวิตร เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม และมอบหมายให้ พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ และ พล.อ.สุชาติ ผ่องพุฒิ คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมขับเคลื่อนงานอย่างใกล้ชิด รายงานผลให้ทราบทุกสัปดาห์ ที่สำคัญทุกหน่วยงานต้องกำกับดูแลไม่ให้มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะผู้ที่เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนกระทำการลักลอบนำข้อมูลไปขายให้กับขบวนการ หรือเป็นตัวการกระทำความผิดเสียเอง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดีก่อนหน้านี้ ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเฉียบขาด

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อการข่มขู่หรือเชิญชวนลงทุนต่างๆ และอย่าให้ข้อมูลส่วนตัวกับผู้อื่นโดยง่าย หากตกเป็นผู้เสียหายให้รีบแจ้งความที่สายด่วน 1441 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.