“รมว.ยุติธรรม” ระบุ ชุมนุมปล่อยตัว “ตะวัน-แบม” ไม่มีผลทางคดี อำนาจอยู่ที่ศาล ไม่ใช่ราชทัณฑ์ บอกไม่เข้าใจ สิ่งที่ทั้ง 2 คนต้องการมากกว่านี้คืออะไร เพราะศาลได้ให้ประกันตัวไปแล้ว
วันที่ 24 มกราคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม นักกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อต้านมาตรา 112 ได้ประท้วงอดอาหารเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวว่า ผู้ต้องขังทั้ง 2 ราย ในตอนแรกศาลได้ให้ประกันตัวไปแล้ว ให้ประกันตัวออกไปอยู่ที่บ้านได้ โดยมีเงื่อนไขต้องสวมใส่กำไล EM และต้องกักบริเวณตัว ทำให้ผู้ต้องขังมีความรู้สึกไม่เต็มใจ จึงขอถอนประกัน เมื่อถอนประกันแล้ว จึงต้องกลับเข้ามาอยู่ในเรือนจำ
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อไป ตนเองไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ทั้ง 2 คนต้องการมากกว่านี้คืออะไร เพราะศาลได้ให้ประกันตัวไปแล้ว แต่ติดเงื่อนไขที่ต้องการอิสระที่มากกว่า ส่วนรายละเอียดที่จะขอประกันตัว ก็เป็นเรื่องของศาล ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบอยู่ แต่ในหน่วยงานที่ดูแลอยู่ต้องดูแลเรื่องของความปลอดภัยของทั้ง 2 คน ที่ต้องการอดข้าวอดน้ำก็ต้องดูแลให้ดี และดำเนินการตามหลักการดูแลผู้ต้องขัง ที่จะสามารถทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ต้องมีการดูแลอย่างละเอียดถี่ถ้วน
เมื่อถามว่า หมายความว่า 2 คนนั้นต้องการอิสระอย่างเต็มที่ แต่เมื่อต้องสวมใส่กำไร EM จึงไม่ยอมใช่หรือไม่ สมศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่ได้อธิบายไป ก็สามารถสรุปได้ ตามที่ได้กล่าวไป เพราะตนเองไม่ได้รู้จักตัวตนของทั้งสองคน เพียงแต่ได้รับรายงานข้อมูลมีข้อเท็จจริงในลักษณะนี้
เมื่อถามถึงกรณีที่มีพรรคการเมืองร่วมชุมนุมร่วมเรียกร้องด้วย มีนัยทางการเมืองหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า แต่ละพรรคมีความชอบออกงานสังคมในลักษณะแตกต่างกันออกไป บางคนที่เป็นนักการเมือง ชอบทำงานให้มีความเป็นรูปธรรม ซึ่งมีความแตกต่างกัน ประเทศเรามีอิสระในการแสดงออกที่สามารถมองดูแล้ว รักใครชอบใครก็แสดงออกไป ไม่ว่ากัน
...
เมื่อถามต่อว่าการที่พรรคการเมือง ไม่มีผลต่อคดีของทั้งสองบุคคลใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ดุลพินิจของศาล ไม่ได้อยู่ที่ราชทัณฑ์ โดยราชทัณฑ์มีหน้าที่เพียงดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มที่ ได้การกำชับอธิบดีไปแล้วอย่าให้มีอะไรผิดพลาด
เมื่อถามถึงกรณีข้อเรียกร้อง 2 คนที่ต้องการออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลนอกสังกัดกรมราชทัณฑ์ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังคงมีอยู่ โรงพยาบาลราชทัณฑ์สามารถรักษาดูแลอย่างเต็มที่ ก็ควรรักษาไปก่อน แต่หากโรงพยาบาลราชทัณฑ์รักษาไม่ไหว จึงอนุญาตให้ไปรักษาตัวโรงพยาบาลนอก ซึ่งมีมาตรฐานในการดูแลผู้ต้องขังอยู่