"พิธา" หัวหน้าก้าวไกล ชี้ "ตะวัน" ขอถอนประกันตัวเอง สะท้อนปัญหาดำเนินคดีการเมือง เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ทำขัดแย้งไร้ทางออก ตนในฐานะผู้กำกับดูแล เคารพการตัดสินใจ โจทย์รัฐบาลหน้า ยุติคดีการเมือง-นิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมือง แนะ เลิก ม.112
วันที่ 16 ม.ค. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง และ อรวรรณ ภู่พงษ์ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 พร้อมทนายความ เดินทางไปที่ศาลอาญาเพื่อยื่นหนังสือและคำร้องขอถอนประกันตัวเอง ว่านับตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน มีเยาวชนและประชาชนถูกดำเนินคดี จากการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง ทั้งสิ้นอย่างน้อย 1,888 ราย ในจำนวนนี้ ถูกดำเนินตาม ม.112 อย่างน้อย 225 ราย หนึ่งในนั้น ได้แก่ คุณทานตะวัน และคุณอรวรรณ ซึ่งวันนี้ทั้งคู่ได้เดินทางไปขอถอนประกันตัวเองที่ศาล เพื่อแสดงออกว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ถูกกักขังอยู่อย่างไม่เป็นธรรมจากคดีการเมือง
นายพิธา กล่าวว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ทนายความได้ติดต่อให้ตนไปเป็นนายประกันของทานตะวัน ต่อมา ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้อง และแต่งตั้งให้ตนเป็นผู้กำกับดูแลทานตะวัน มาวันนี้ อาจมีหลายคนไม่เห็นด้วยกับการขอถอนประกันตัวเองดังกล่าว แต่ในฐานะผู้กำกับดูแล ตนเคารพการตัดสินใจของทานตะวันตามเหตุผลที่ว่า
...
“พวกเราพร้อมแลกอิสรภาพจอมปลอมที่ศาลมอบให้ เพื่ออิสรภาพที่แท้จริงของเพื่อนเรา”
นายพิธา กล่าวว่า วิกฤติการเมืองไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา เมื่อมีประชาชนลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลง ผู้มีอำนาจกลับปราบปรามพวกเขาด้วยความรุนแรง จับกุมคุมขัง และดำเนินคดีโดยไม่สนใจหลักนิติรัฐและหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่น่าเป็นห่วงต่อกระบวนการยุติธรรมและสถาบันตุลาการคือ กลไกตั้งแต่ตำรวจ อัยการ และศาล กำลังถูกมองว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดปราบการแสดงออกประชาชนเช่นกัน อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ความรุนแรงจากกระบวนการยุติธรรม’
นายพิธา กล่าวว่า ในช่วงการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีนวัตกรรมใหม่ในการกดปราบประชาชน นั่นคือเมื่อมีการดำเนินคดีทางการเมือง ในหลายคดีหากผู้ต้องหาหรือจำเลยอยากได้อิสรภาพ ศาลจะอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวได้ ก็ต่อเมื่อยอมรับเงื่อนไขว่า "ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย ในบ้านเมือง และห้ามจำเลยกระทำการใดๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเกิดความกระทบกระเทือนต่อสถาบัน" และผู้ต้องหาหรือจำเลยหลายคนจะถูกถอนการประกันตัว เพราะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น การตั้งเงื่อนไขให้ต้องใส่กำไลข้อเท้า (EM) หรือแม้แต่การห้ามออกจากบ้านนั้น ก็เป็นการ "ลงโทษ" มากกว่าการให้อิสรภาพหรือคืนความเป็นธรรมแก่จำเลย ตนอาจใช้คำเดียวกับทานตะวันว่าเป็น "อิสรภาพจอมปลอม" โดยเฉพาะกับผู้ต้องหาหรือจำเลย ม.112
“ผมเห็นว่า การดำเนินคดีการเมืองอย่างที่เป็นอยู่กำลังจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองไม่มีทางออก และผมไม่เชื่อว่าการใช้ ม.112 อย่างนี้จะเป็นผลดีต่อสถาบันเลยแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน การใช้ ม.112 จะยิ่งสร้างความแตกร้าวระหว่างประชาชนกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้นไปอีก” นายพิธา กล่าว...
นายพิธา กล่าวว่า นี่คือปัญหาแรกๆ ที่รัฐบาลสมัยหน้าต้องแก้ คือ หนึ่ง ยุติการดำเนินคดีการเมือง และสอง นิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมือง เพื่อคืนความยุติธรรม ลดความขัดแย้งทางการเมือง และเปิดทางให้ใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยแก้ปัญหาการเมืองที่สะสมมานับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 นอกจากนั้น สภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า ควรต้องแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายความมั่นคงหลายฉบับ รวมทั้ง ม.112 ที่อย่างน้อยต้องมีการแก้ไขบทบัญญัติไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และมีความสมดุลกันระหว่างการคุ้มครองประมุขของรัฐกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
“ผมยังยืนยันในสิ่งที่เคยอภิปรายไว้ในสภาว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรหยุดแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นสิ่งที่ไม่อยากเห็น เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ในการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งการแสดงออกในโลกออนไลน์ ยังมีเยาวชนและประชาชนอีกมากมาย ที่ได้แสดงออกถึงประเด็นที่เป็น "Inconvenient Truth" หรือ "ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจ" ถ้าพวกเราพร้อมและต้องการที่จะรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่จริงๆ ผมขอเชิญชวนให้ตั้งสติเสียใหม่ เปิดใจ ปรับมุมมอง แล้วลงมือหาทางออกของประเทศไปด้วยกัน แต่ถ้าเราไม่พร้อม เราก็จะมองเห็นเพียงแค่ว่า ผู้เป็นอนาคตของชาติเหล่านั้น เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นภัยคุกคามต่อสถาบัน เช่นนั้น ประเทศก็จะไม่มีทางออก ไม่มีอนาคต เพราะพวกเราช่วยกันฆ่าอนาคตของประเทศด้วยมือของพวกเราเองแล้ว” นายพิธา กล่าว.