"กรณ์-อรรถวิชช์" ใส่เต็มแม็ก ออกนโยบาย "ยกเลิกแบล็กลิสต์" เปิดหน้ารื้อระบบสินเชื่อไทย ได้ประโยชน์ทันที 5.5 ล้านคน ชาวบ้านร่วมแชร์ประสบการณ์ ตกนรกทั้งเป็น เพราะแบล็กลิสต์ หมดโอกาสทำกิน เตรียมเปิดนโยบายอีกเร็วๆ นี้

วันที่ 16 ม.ค. พรรคชาติพัฒนากล้า โดยนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค พร้อมด้วย ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรค แถลงเปิดนโยบายเศรษฐกิจชุดแรก "ยกเลิกแบล็กลิสต์ รื้อระบบสินเชื่อ" ที่มีการติดป้ายนโยบายนำเสนอต่อประชาชนในพื้นที่ไปแล้ว และยืนยันว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยติดแบล็กลิสต์จริง พร้อมนำผู้ติดแบล็กลิสต์กว่า 10 ชีวิต มาร่วมแถลงในครั้งนี้ด้วย

นายกรณ์ กล่าวว่า ภาระหนี้สินประชาชนเป็นปัญหามาเรื้อรังและสาหัสขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ค่าครองชีพสูงขึ้น ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ซึ่งตนเองได้ต่อสู้กับเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 52 สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกนโยบายแก้หนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ ช่วยเหลือประชาชนได้กว่า 5 แสนราย และติดตามสถานการณ์หนี้สินของประชาชนมาต่อเนื่อง แต่เรื่องหนี้สินยังเป็นปัญหาเรื้อรังมาตลอด วันนี้พรรคชาติพัฒนากล้าจึงออกนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องใช้เงินภาษีแม้แต่บาทเดียว ด้วยการรื้อระบบเก็บข้อมูลของบริษัทเครดิตบูโร ยกเลิกระบบแบล็กลิสต์ ใช้ระบบ Credit Scoring หรือวิธีประเมินสินเชื่อตามจริงแทน

...

“ผมยืนยันนะครับว่า ระบบเครดิตบูโร ยังจำเป็นต้องมี มันเป็นวินัยทางการเงิน แต่รอบหลายปีที่ผ่านมา เรื่องแบล็กลิสต์ยังเป็นปัญหาสำคัญ ที่หนักขึ้นเรื่อยๆ ที่บอกว่า แบล็กลิสต์ไม่มีจริงนั้น ถามคนติดแบล็กลิสต์สิครับพวกเขาหัวเราะอย่างขมขื่น เพราะถูกปฏิเสธการกู้ยืมเงินในระบบ ต้องแบกภาระหนี้สินที่หนักอึ้ง ต้องทำงานไปจ่ายหนี้นอกระบบไป และตราบใดที่ยังไม่หลุดจากแบล็กลิสต์ ก็ยังกู้หนี้ไม่ได้ เราจึงเสนอให้ยกเลิกระบบแบล็กลิสต์ เปิดให้เครดิตบูโรนำข้อมูลทุกชนิด ที่บ่งบอกสถานะที่แท้จริงของตัวผู้กู้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ประวัติทางการเงินที่เป็นบวกมาร่วมพิจารณาด้วย ที่เรียกว่าระบบ Credit Scoring ไม่ใช่เอาแค่ข้อมูลที่เป็นลบมาพิจารณาเพียงอย่างเดียว และนโยบายนี้ไม่ต้องใช้ภาษีเพิ่ม อาศัยเทคโนโลยีและข้อมูลที่เป็นธรรมในการปล่อยกู้ ให้ประชาชนกลับมาลืมตาอ้าปากอีกครั้ง นี่คือนโนบายของพรรคชาติพัฒนากล้า” นายกรณ์ กล่าว

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวว่า ไม่มีนักรบใดไม่มีบาดแผล คนทำธุรกิจกับการขอสินเชื่อเป็นเรื่องคู่กันอยู่แล้ว แต่ระบบการจัดเก็บข้อมูลเครดิตของบ้านเรา เพื่อให้ธนาคารไปวิเคราะห์ มันไม่ยุติธรรม คนตัวเล็กทำมาหากิน มีรอยบาดแผลติดแบล็กลิสต์ แม้หาเงินกลับมาใช้หนี้ได้ สถานะการเงินกลับมาปกติแล้ว ก็ไม่สามารถกลับมากู้สินเชื่อปกติหรือสินเชื่อธุรกิจที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 7 ได้ ต้องไปหมุนใช้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อนาโน ซึ่งสินเชื่อกลุ่มนี้ดอกเบี้ยสูงมาก เริ่มตั้งแต่ร้อยละ 16-33 ต่อปี บางรายต้องไปยืมหนี้นอกระบบ ซึ่งดอกเบี้ยโหดกว่านี้อีกหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้เป็นความผิดปกติที่ชัดเจนที่สุด ผลักให้คนไทยต้องเข้าสู่ระบบสินเชื่อ ที่ดอกเบี้ยสูงเกินจริง ซึ่งเป็นเหตุจากความไม่ยุติธรรมในระบบการปล่อยสินเชื่อ และตอนนี้มีคนติดแบล็กลิสต์ราว 5.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีถึง 3.2 ล้านคนที่ติดแบล็กลิสต์ช่วงโควิด

"นโยบายการยกเลิกแบล็กลิสต์ ไม่ได้ทำให้ระบบธนาคารขาดความเข้มแข็ง ในทางกลับกัน จะเป็นการทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้ถูกกว่าทุกตัว มีความยุติธรรมมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้เห็นธนาคารพาณิชย์ ไปจับมือร่วมกันกับแอปพลิเคชันสีเขียว แอปพลิเคชันสีส้ม ปล่อยสินเชื่อได้แล้ว โดยใช้ฐานข้อมูลลูกค้า แต่กฎหมายข้อมูลเครดิตกลับล้าสมัย ข้อมูลที่อยู่กับแอปพลิเคชันเหล่านี้ ไม่ได้ถูกนำมาประมวลผล ระบบการจัดเก็บข้อมูลเครดิตตอนนี้มันจึงไม่แฟร์ ไม่ยุติธรรมกับโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไป" ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

ระหว่างการแถลงข่าว มีการเชิญประชาชนหลากหลายอาชีพ ทั้งแม่ค้า นักดนตรี มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และอีกหลายอาชีพที่ติดแบล็กลิสต์มาเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ สาเหตุ ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ ติดหนี้บัตรเครดิต ต้องออกจากงานประจำ บางรายต้องยืมหนี้นอกระบบ คนกลุ่มนี้พร้อมร่วมสนับสนุนนโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์แล้วใช้ระบบ Credit Scoring โดยหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ทิ้งท้ายว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายเพื่อช่วยเหลือด้านการเงินให้ประชาชน และจะทยอยออกมาทีละเรื่อง เพื่อให้คนไทยมีงานดี มีเงิน ของไม่แพง ซึ่งเป็นหัวใจของทุกเรื่อง

นายกรณ์ ยังกล่าวถึงกรณี ส.ว.เตรียมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกการจำกัดวาระนายกรัฐมนตรี 8 ปี ว่า ประชาชนได้รับข้อสรุปเรื่องนี้จากศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว ตอนนี้ทุกอย่างควรเดินหน้าตามกติกาสู่การเลือกตั้ง หลังจากนั้นหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นสำคัญที่ควรแก้ไขคือการยกเลิกอำนาจ ส.ว.แต่งตั้ง เลือกนายกรัฐมนตรี โดยให้เป็นหน้าที่ของตัวแทนประชาชนเป็นผู้เลือก เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งทางพรรคได้นำเสนอมาหลายปีแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงการแก้ไขเรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ที่มาองค์กรอิสระซึ่งมีที่มาจาก ส.ว.แต่งตั้ง จึงควรแก้ไขให้ตัวแทนประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

ส่วนกรณี กกต. ไม่เห็นชอบระบบการรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการ นายกรณ์ กล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือความโปร่งใสในการนับคะแนน ต้องให้การนับคะแนนสว่างมากที่สุด บริสุทธิ์ยุติธรรม ขณะที่นายอรรถวิชช์ ย้ำว่า เวลานี้ใกล้จะครบเทอมอายุสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จำนวนประชากรก็นิ่งแล้ว แต่กติกาต่างๆ ยังติดขัด โดยเฉพาะการแบ่งเขต ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดกับทุกพรรค จึงฝากถึง กกต. ในเรื่องนี้ด้วย