“พล.อ.ประวิตร” ห่วงชาวสวนปาล์ม สั่งหาข้อเท็จจริงปมโรงงานและลานเทชะลอรับซื้อ พร้อมสอบพิรุธราคาตก กำชับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ หากพบเข้าข่ายความผิดดำเนินการตามกฎหมาย
วันที่ 12 มกราคม 2565 พลตำรวจเอกธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ห่วงใยสถานการณ์ปาล์มทะลายจากสวนติดคิวรอขาย เนื่องจากโรงสกัดปาล์มและลานเทหยุดการรับซื้อ รวมถึงถูกกดราคารับซื้อปาล์มทะลายอยู่ในขณะนี้ ได้รับทราบข้อมูลแล้ว จึงได้สั่งการให้ตนในฐานะประธานอนุกรรมการ เร่งตรวจสอบสถานการณ์ในพื้นที่ ปรากฏว่าโรงสกัดปาล์มน้ำมันและลานเทใน จ.สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง และกระบี่ จำนวน 22 โรงงาน และพ่อค้าลานเท หยุดรับซื้อปาล์มทะลายในระยะนี้ ทำให้รถส่งปาล์มที่ออกจากสวนปาล์มติดคิว เนื่องจากมีการชะลอการรับซื้อและถูกกดราคาอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3,900-4,100 ริงกิตต่อตัน หรือคิดเป็นกิโลกรัมละ 32 บาท รวมทั้งสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศจากระบบเรียลไทม์ของกรมการค้าภายใน พบว่าระดับสต๊อกในวันนี้อยู่ที่ 3.08 แสนตัน หรือ 32.2% ของความจุของแท็งก์น้ำมันปาล์มทั่วประเทศ ที่มีอยู่เกือบ 500 แท็งก์และจุน้ำมันปาล์มได้กว่า 9.58 แสนตัน
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้รับทราบบัญชีรายชื่อโรงสกัดปาล์มใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย โรงงานใน จ.สุราษฎร์ธานี 7 โรง, จ.กระบี่ 8 โรง, จ.นครศรีธรรมราช 4 โรง, จ.ตรัง 2 โรง, และ จ.ชุมพร 1 โรง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการในสมาคมที่รวมกลุ่มใกล้ชิดสนิทสนมกัน คาดว่าจะมีผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งในฐานะประธาน กนป. ที่กำกับดูแลมาตรการปาล์มน้ำมันทั้งระบบ จึงสั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันตรวจสอบ และสืบสวนข้อเท็จจริงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หากพบเข้าข่ายการกระทำความผิดกฎหมาย ให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวสวนปาล์ม เร่งแก้ไขปัญหาข้อขัดข้อง สร้างการรับรู้ในการตัดปาล์มน้ำมัน การรับซื้อของโรงงานและลานเท โดยเฉพาะหากพบมีการสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างความปั่นป่วนและฮั้วกดราคารับซื้อ
...
สำหรับปาล์มน้ำมัน เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มาตรา 24 หากพบมีการกระทำที่เข้าข่ายฐานความผิด โดยทำให้เกิดการปั่นป่วนซึ่งราคาสินค้าหรือบริการ ตามมาตรา 29 มีบทกำหนดโทษจำคุกถึง 7 ปี และปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของพาณิชย์จังหวัดและกรมการค้าภายในที่จะต้องพิจารณาดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตร ยังได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด บูรณาการหาสาเหตุและดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันให้คณะทำงานระดับจังหวัดเร่งสร้างการรับรู้ความเข้าใจของชาวสวนปาล์มและผู้ประกอบการ ทั้งโรงสกัดและลานเทที่รับซื้อ ให้ความร่วมมือในการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนปาล์ม ต้องให้รับซื้อปาล์มทะลายในราคาที่เป็นธรรมตามโครงสร้างราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด พร้อมมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมตรวจโรงงานในพื้นที่ทุกแห่งตามมาตรการของ กนป. ที่กำหนดอัตราการสกัดน้ำมันปาล์มที่ 18% ขึ้นไป แล้วให้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหยุดสายการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงของโรงสกัดน้ำมันปาล์มแต่ละแห่งว่าจริงหรือไม่ รวมถึงหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต.