กทม. ประชุมมาตรการสุขภาพรับนักท่องเที่ยว แนะประกันสุขภาพระยะสั้นก่อนเข้าไทย ชี้ แม้สถานพยาบาลในสังกัดจะมีกำลังทรัพยากรพร้อมดูแล แต่ก็ไม่อยากให้ป่วย เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
วันที่ 10 มกราคม 2566 รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการด้านสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยว ภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร หรือ Bangkok Health Emergency Operations Center (ศฉส.กทม. : BHEOC) ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และผ่านระบบออนไลน์ ว่า จากการติดตามสถานการณ์ของ ศฉส.กทม. ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศลดลงต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว แสดงว่าภูมิคุ้มกันของประชาชนมีสถานะดีขึ้น ค่อนข้างแข็งแรง แต่ยังเป็นห่วงกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์) รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งปัจจุบัน กทม. ยึดหลัก 4-4 คือประชาชนจะต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม หรือหากครบแล้วแต่เกิน 4 เดือน ให้มารับเข็มกระตุ้น
...
ทางด้าน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมถึงสถานการณ์เตียง ว่า กรุงเทพมหานครร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการเตรียมเตียงมากกว่า 10,000 เตียง แต่อาการเจ็บป่วยที่ต้องใช้เตียงถือว่าน้อยมาก ไม่ถึง 5% ส่วนใหญ่การเจ็บป่วยแบบผู้ป่วยนอก มีอาการเล็กน้อย ดังนั้นเรื่องเตียงเรามีความพร้อมและสามารถรองรับได้แน่นอน ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มสีเขียวก็จะมีแนวทางการรักษาแบบผู้ป่วยนอกเช่นกัน หากเจอนักท่องเที่ยวติดเชื้อโควิด-19 ก็จะให้กักตัวในโรงแรม พร้อมขอความร่วมมือใส่หน้ากากและไม่ไปที่ชุมชน ลักษณะเดียวกับ Hotel Isolation อย่างเช่นที่ผ่านมา
“แม้ว่าสถานพยาบาลของกรุงเทพมหานคร ทั้งในส่วนของ กทม. กระทรวงสาธารณสุข และเอกชน มีกำลังทรัพยากรพร้อมที่จะดูแลและยังสามารถรับได้ แต่ก็ไม่อยากให้ป่วย เราจึงเร่งในเรื่องของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากขึ้น”
สำหรับมาตรการในส่วนของกรุงเทพมหานคร จะจัดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับผู้ให้บริการภาคส่วนการท่องเที่ยว ทั้งผู้ขับรถสาธารณะ รวมถึงภัตตาคาร ร้านอาหาร และจะทำให้โรงแรม สถานประกอบการ สถานที่ท่องเที่ยว รักษามาตรฐาน COVID Free Setting, SHA และ SHA Plus โดยให้สำนักงานเขต 50 เขต ตรวจสอบผู้ประกอบการ ร้านอาหารต่างๆ ให้มีการเตรียมพร้อมที่ดีขึ้น มีสุขอนามัยที่ดีขึ้น เป็นการยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศให้เป็น Safety Tourism หรือ Trusted Tourism เพื่อฟื้นเศรษฐกิจเมืองได้อย่างรวดเร็ว
ด้านนักท่องเที่ยวทั่วไปที่จะเข้ามาควรมีประกันสุขภาพมาด้วยเพื่อความมั่นใจ หากมีการเจ็บป่วยจะได้สบายใจเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล แต่กรณีนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่มีเงื่อนไขต้องตรวจ RT-PCR เมื่อกลับไป ให้มีประกันระยะสั้นในการเดินทางมา เพื่อครอบคลุมการตรวจและรักษาต่อเนื่อง ขณะเดียวกันรัฐบาลจะกำหนดสถานพยาบาลที่จะให้บริการนักท่องเที่ยว ทั้งในแง่ของการดูแลรักษารวมถึงการให้บริการวัคซีน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันที่ 12 มกราคมนี้ โดย กทม. ก็มีสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานหลายแห่งที่พร้อมจะเข้าร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะต้องรอความชัดเจนก่อน เพราะจะต้องมีรายละเอียดในเรื่องของการกำหนดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการตรวจรักษานักท่องเที่ยวระยะสั้นและระยะกลางที่เข้ามา
อีกส่วนหนึ่งคือจุดฉีดวัคซีนที่จะจัดให้นักท่องเที่ยวก็จะต้องมีการจัดระบบการจองคิว/การวอล์กอิน ให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่น หรือปัญหาอื่นๆ ตามมา ซึ่งล่าสุดทางศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ได้ให้สถานที่จัดฉีดวัคซีน ระหว่างวันที่ 19-25 มกราคม 2566 ตั้งแต่เวลา 12.00-20.00 น. ซึ่งอาจจะพิจารณาจัดระบบการฉีดให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย
“โควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เทียบเคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ การผ่อนคลายก็เพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมา ซึ่งเราเองก็พึ่งพาเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวเยอะ และ กทม. ก็เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ เป็นทางผ่านในการท่องเที่ยว เราก็อยากให้นักท่องเที่ยวเข้ามา กทม. พร้อมทำให้และพร้อมฟังเสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวและทุกภาคส่วน แต่แม้จะมีการผ่อนคลาย แต่ก็ต้องทำมาตรการของเราให้เข้มแข็งขึ้น เน้นการฉีดวัคซีนให้มาก เพราะเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถตอบได้ว่าในขณะที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่กว่า 90% เป็นสีเขียว และอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยเหลือง-แดงก็ลดลง อย่างไรก็ตาม กทม. ขอความร่วมมือคนที่แข็งแรงอย่างพวกเราว่า เวลาไปที่ไหนให้ใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการนำโรคไปถึงกลุ่ม 608 ที่บ้าน”