“ชัชชาติ” ย้ำ ต้องรอบคอบรับมือนักท่องเที่ยวแห่เข้าไทย กทม. พร้อมร่วมมือเต็มที่ เร่งประสานฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้ขับรถสาธารณะ กำชับมาตรการให้รัดกุมยิ่งขึ้น เสนอ สธ. ให้นักท่องเที่ยวซื้อประกันครอบคลุมการรักษา

วันที่ 5 ม.ค. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 โดยกล่าวถึงเรื่องโควิด-19 และการรองรับนักท่องเที่ยว ว่า รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ได้เข้าประชุมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศที่จะเข้ามา โดยทางกรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นไว้แล้ว และพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายในภาพรวม

ทางด้าน รศ.ดร.ทวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครเฝ้าระวังสถานการณ์ในเรื่องของการที่มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมาโดยตลอด ไม่ใช่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เนื่องจากไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้เราจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้น การกระชับมาตรการให้แน่นหนาขึ้นก็เป็นแนวทางที่จะต้องทำ ซึ่งในการประชุม กระทรวงสาธารณสุขก็พยายามเต็มที่ในการหาแนวทางบริหารจัดการนักท่องเที่ยวให้ได้ตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นที่สนามบินสุวรรณภูมิ หรือสนามบินดอนเมือง ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นเขตติดต่อที่จะช่วยดูแล ส่วนกระทรวงสาธารณสุขดูแลทั้งประเทศ

...

“ตอนนี้เราก็เริ่มประสานงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครกับกระทรวงสาธารณสุข จัดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับผู้ที่ขับรถสาธารณะทั้งหมด โดยกระทรวงสาธารณสุขจะให้โควตามาเพื่อที่ให้เป็นบูสเตอร์เข็ม 3 เข็ม 4 ให้เร็วที่สุด ดังนั้น ประชาชนของเราที่ให้บริการรถสาธารณะอยู่ก็จะสามารถปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง”

ส่วนกรณีที่มีหลายประเทศต้องการให้การเดินทางกลับของนักท่องเที่ยวของเขามีผล RT-PCR ล่วงหน้า 48 ชั่วโมง กรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นว่า อยากให้มีการจัดระบบระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร ในการบริหารจัดการกรณีต้องตรวจ RT-PCR จะตรวจที่ไหนได้บ้าง ค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร และหาก RT-PCR เป็นบวกนักท่องเที่ยวเดินทางกลับไม่ได้ จะให้บริการทางด้านการรักษาพยาบาลหรือด้านการพักรอเพื่อที่จะเดินทางกลับไปด้วยวิธีการแบบไหน โดยกรุงเทพมหานครเสนอไปว่า กรณีที่ประเทศใดที่ให้ตรวจ RT-PCR ก่อนกลับจะต้องให้มีการซื้อประกันระยะสั้นเพื่อจะทำให้มีค่าบริหารจัดการ ซึ่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็บอกว่าเป็นข้อเสนอที่ดี และคิดว่าจะไปบริหารจัดการต่อ เพราะยังมีรายละเอียดค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการประสานข้อมูลในพื้นที่ของฝั่งกรุงเทพมหานคร ปกติเรามีศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ฉุกเฉินทางสุขภาพของกรุงเทพมหานครที่ทำมาตลอดอยู่แล้ว โดยในวันอังคารหน้า (10 ม.ค. 2566) จะได้มาตรการในเชิงรายละเอียดของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำมาปรับใช้กับพื้นที่ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. มอบให้ทุกสำนักงานเขตเริ่มเก็บข้อมูลว่านักท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่เขตไหนมีความเป็นกลุ่มก้อนเยอะ และมีกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถติดตามพัฒนาการหากมีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการประสานผู้ประกอบการด้วย

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอยากให้กรุงเทพมหานครเน้นเรื่องมาตรการต่างๆ ที่เคยทำมา อาทิ SHA Plus ของสถานประกอบการ ให้มีความรัดกุมขึ้น ซึ่งทางกรุงเทพมหานครจะพูดคุยกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้ประกอบการ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน รวมถึงศูนย์ประสานงานที่กำลังจะตั้ง ทั้ง EOC ของสาธารณสุข และศูนย์ประสานงานระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ขอให้ทางกรุงเทพมหานครเข้าร่วมด้วย ในฐานะผู้สนับสนุนและเจ้าของพื้นที่

ในช่วงท้าย นายชัชชาติ ระบุด้วยว่า ต้องดูให้รอบคอบ นักท่องเที่ยวที่มาเยอะขึ้น หากกลับไม่ได้เพราะติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงเรื่องการฉีดวัคซีน การตรวจหาเชื้อ ใครจะดูแลค่าใช้จ่าย ต้องขอบคุณนักท่องเที่ยวที่อยากมาเที่ยวประเทศไทย กรุงเทพมหานครยินดีต้อนรับอย่างดีที่สุดให้ทุกคนมาเที่ยวอย่างมีความสุขและกลับบ้านปลอดภัย.