โพล ชี้ 80.1% พบการยุยง ปลุกปั่นให้เด็ก-เยาวชน ขณะ 85.9% มีพรรคการเมืองบางพรรค นักการเมือง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคมบางคน สั่นคลอนสถาบันหลักชาติในโซเชียล ส่วนประชาชน 81.8% พร้อมปฏิเสธพรรคการเมืองที่ทำสิ่งเหล่านั้น
วันที่ 25 ธ.ค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง สถาบันหลักของชาติ กับ คนไทย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Survey) เพื่อลดความคลาดเคลื่อนแก้ปัญหาแหล่งความคลาดเคลื่อนจากผู้ถามผู้ตอบและเครื่องมือวัด จำนวน 1,159 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 - 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95
ข้อเท็จจริง ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.1 พบว่ามีการยุยงปลุกปั่นมากถึงมากที่สุดให้เด็กและเยาวชนสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติในโลกโซเชียล ในขณะที่ร้อยละ 14.6 ระบุกลางๆ และร้อยละ 5.3 ระบุ น้อยถึงไม่มีเลย
ความคิดเห็นและประสบการณ์ของประชาชนต่อการสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.9 ระบุ มีพรรคการเมืองบางพรรค นักการเมือง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคมบางคน ยุยง ปลุกปั่น เด็กและเยาวชน คนรุ่นใหม่ ให้สั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.9 ระบุ ผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางคน ปล่อยปละละเลย ไม่มีมาตรการเชิงรุก ไม่เด็ดขาดจัดการขบวนการสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.4 ระบุต่างชาติ สนับสนุน ขบวนการสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติไทย
...
ความพร้อมของประชาชน
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.8 ระบุ พร้อมมากถึงมากที่สุด ในการปฏิเสธพรรคการเมืองที่สั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ ในขณะที่ ร้อยละ 14.8 ระบุ กลางๆ และร้อยละ 3.4 ระบุ น้อยถึงไม่พร้อมเลย
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ต่อสถาบันหลักของชาติ จิตใจของคนไทยส่วนใหญ่จดจ่อต่อเหตุการณ์ใกล้ชิด จากการเกาะติดสถานการณ์สั่นคลอนสถาบันหลักของชาติในโลกโซเชียล และการสำรวจอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี ที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์การสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ ยังน่าเป็นห่วงเพราะในข้อเท็จจริงที่ค้นพบยังคงมีการยุยงปลุกปั่นเด็กเยาวชนสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติในโลกโซเชียลอย่างกว้างขวาง มีการยุยงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ความสนใจของเด็กเยาวชนที่ตอนแรกเพียงแค่ “อยากรู้อยากเห็น” ต้องการหาความจริง แต่เมื่อทดลองเข้าไปดูก็จะถูกขบวนการสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติปล่อยข้อมูลในทางลบ เข้ามายังการรับรู้ของเด็กและเยาวชนต่อเนื่องในลักษณะ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้กลุ่มเด็กเยาวชนที่เคยแค่อยากรู้อยากเห็น เปลี่ยนมาเป็น ข้อสงสัย จากข้อสงสัยเปลี่ยนมาเป็นคิดว่า น่าจะจริง จากที่คิดว่าน่าจะจริงกลายเป็น อคติฝังใจ ถูกบิดเบือนว่า จริงไปแล้วพัฒนาไปสู่ขั้วข้างสร้าง ความเกลียดชัง ขึ้นในทัศนคติและพฤติกรรมที่แสดงออก น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าวันนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลหันมาเอาจริงเอาจังกับขบวนการในโลกโซเชียลออกแบบสถาปัตยกรรมทางไซเบอร์ ปรับปรุงกฎหมายทางไซเบอร์ รณรงค์เสริมสร้างความตระหนักและดึงความร่วมมือจากภาคประชาสังคม (Civil Society) ทำให้คนไทยมั่นคงแข็งแกร่งเกิดจิตสำนึกทัศนคติที่ดีต่อความมั่นคง ปลอดภัยของชาติ ผลประโยชน์ชาติและผลประโยชน์ส่วนตัวของประชาชน ผลที่ตามมาคือ คนไทยจะเลือกปฏิเสธและไม่สนับสนุนขบวนการสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติในทุกรูปแบบทั้งพรรคการเมือง นักการเมือง นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่กำลังพยายามสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติในเวลานี้