ผู้คนในชายคา “ไทยรัฐ” วันนี้น้อยคนแล้วที่จะมีภาพจำ “ผอ.กำพล วัชรพล” นุ่งกางเกงขาสั้น เสื้อยืดคอกลมตัวเก่ง สวมรองเท้าผ้าใบ วาดลวดลายในวงตะกร้อลอดบ่วง เกือบทุกเย็น

แล้วก็น้อยคนลงไปอีก ที่จะเห็น ผอ.กำพล นั่งพับหนังสือพิมพ์ รวมๆอยู่ในแถวแนวบริวารหญิงเป็นส่วนใหญ่

คนในกองบรรณาธิการ หรือ “พวกนักข่าว” ถ้าไม่ใช่ “เก๋า” จริงๆ โอกาสจะเข้าไปนั่งใกล้น้อยเต็มที

เด็กรุ่นหลัง หลายคนมีคำถาม “ป๊ะ” เคยเป็นนักข่าวมาแล้วหรือไม่...ถ้าเคยเมื่อไหร่?

นักข่าวเก่าๆ รุ่นผม เข้าชายคาต้นปี 2522 อยากจะตอบ... ก็ตอบไม่ได้ ภาพนักข่าวของ ผอ.ในใจ จางหาย จนแทบไม่มีเค้าลางเหลือ จนเมื่อปีนั้น ปีที่ ผอ.ครบ 60 ล่ะ กระมัง...มีงานใหญ่

ผอ.เรียกไปถาม รับโบนัส (6 เดือนนะครับ) หรือยัง รู้ว่าลูกน้องมีเงิน ท่านก็พูดสั้นๆ “เอามา 500”

ได้เงินเข้ามูลนิธิไทยรัฐแล้ว ผอ.ยื่นหนังสือ “กำพล วัชรพล จอมคนหนังสือพิมพ์” ให้

ในเล่มผมอ่านเจอเรื่อง ผอ.เริ่มต้นชีวิตวัยหนุ่ม เป็นนักข่าว พ.ศ.2494 เกิดกบฏที่เรียกแมนฮัตตัน ทหารเรือจับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นตัวประกันไว้ใน ร.ล.ศรีอยุธยา

ผอ.กับรุ่นพี่ เลิศ อัศเวศม์ ลงเรือสำปั้นลิ่วเข้าไป แน่ใจอดีตทหารเรือเก่า คงใช้ความคุ้นเคย เข้าไปถึง ร.ล.เลียบเคียงทำข่าวสำคัญได้

ผิดคาด...เรือเข้าใกล้ ปืนทหารเรือก็พรั่งพรูขู่ เบนเรือหนีเข้าฝั่งพระนคร ปืนจากตำรวจ หรือทหารฝ่ายรัฐบาลก็ยิงสะกัด...ทางรอดตอนนั้น คว่ำเรือ เอาท้องเรือกันกระสุนลอยไปตามกระแสน้ำ เป็นนาน กว่าจะถึงจุดขึ้นฝั่ง

ปี พ.ศ.นั้น ไทยรัฐยังไม่มีงานข่าวนี้แค่ซ้อมๆมือ ทำหนังสือเฉพาะกิจออกขาย หัวใจนักข่าวบู๊ดุเดือดอย่างนี้ ไม่แปลก ประวัติ ผอ. ตอนทำ นสพ.ข่าวภาพ มีข่าวถูกรัฐบาลเผด็จการสั่งล่ามโซ่แท่นพิมพ์

นับประสาอะไร กับสารพัดสารพันข่าวสาร ที่มีต่อๆมา ไม่ว่าในช่วง เสียงอ่างทอง จนมาถึงไทยรัฐ

เท่าที่ผมจำได้ ทุกครั้งที่มีข่าวสำคัญ ผอ.กำพล ซึ่งปกติ ท่านวุ่นอยู่กับแท่นพิมพ์ กับช่างเรียงช่างพับ ก็เดินเข้ามาคลุกในวงศ์ไพบูลย์ข่าว ขาดข้าว ขาดน้ำ หรือกระทั่งขาดเงิน (เงินเหรียญหยอดโทรศัพท์สาธารณะ) ท่านก็สั่งจัดให้

วันหนึ่งช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผอ.วนเวียนเข้าออกโต๊ะข่าว ตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเช้า

ผอ.ได้ข่าวลับมากๆ สั่งค้นแฟ้มข้อมูลเขียนข่าวเตรียมไว้...จนถึงเช้า ข่าวใหญ่เข้ามา หัวหน้าข่าวหน้า 1 ก้มๆเงยๆ เขียนพาดหัวตัวยักษ์ ผอ.ชะเง้ออยู่ข้างหลัง แล้วส่ายหน้า มีเสียงพึมพำ “ไม่ใช่ๆ!”

หัวหน้าข่าว เหลียวมาเหมือนขอคำแนะนำ เสียงที่หลุดจากปาก ผอ.กำพล ไม่ใช่คำสั่ง ฟังเหมือนพูดเล่นๆ

ก็แค่นี้ พาดหัวยักษ์ ข่าวเช้าฉบับนั้น กรอบตัวหนังสือตัวใหญ่แปลกตาออกไปกว่าปกติ “สั่งปลดอาทิตย์ ” ซึ่งก็รู้กันทันที คือคำสั่งปลด ทหารที่ใหญ่ที่สุด ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ...นี่คือพาดหัวข่าว ที่อ่านแล้ว สะท้านกันทั้งเมือง

มีเสียงซุบซิบ...ฝีมือหัวหน้าข่าวคนนั้น คนนี้ มีคนที่รู้จริง สี่คำพาดหัวสะดุดตา เป็นใคร ไม่กี่คน

มีเรื่องเล่ากันอีกว่า ในสารพัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงตัว ผอ.กำพล ประโยคหนึ่งจากปากผู้มีอำนาจที่ขัดอกขัดใจ...“เขาจบแค่ ป.4” มีคนเอาไปบอก ผอ.หัวเราะ “ผมไม่จบ ป.4”

ใครฟังก็คาใจ ผมก็คาใจ เนิ่นนานเต็มที กว่าจะรู้ว่า ช่วงปี พ.ศ. ที่ ผอ.เข้าโรงเรียนวัดดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบนนั้น หลักสูตรโรงเรียนชั้นประถม มีแค่ ป.3

โชติ แพร่พันธุ์ หรือยาขอบ ผู้เขียนผู้ชนะสิบทิศ จบ. ม.4 เทพศิรินทร์ เคยถูกเชิญเข้าร่วมร่างหลักสูตรปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กำพล วัชรพล จบ ป.3 โรงเรียนวัดดอนไก่ดี ผู้สร้างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ปฏิเสธกันได้หรือไม่ สองท่านนี้ คือจอมกระบี่ไร้เทียมทาน แห่งวงการสิ่งพิมพ์ไทย.

กิเลน ประลองเชิง