รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยผลสำเร็จ “ไทยพร้อม” สร้างการมีส่วนร่วมประชาชนต่อการเป็นเจ้าภาพเอเปก พบคนรุ่นใหม่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก
วันที่ 14 ธันวาคม 2565 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ ได้สั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะเลขานุการของคณะ ร่วมกับกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ หาแนวทางในการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน ต่อการเป็นเจ้าภาพของไทยในการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก 2565 ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีบทบาทในการสื่อสารและสร้างการรับรู้แก่ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติผ่านหลากหลายกิจกรรม โดยกรมประชาสัมพันธ์ได้จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “ไทยพร้อม” แสดงความพร้อมของคนไทยทุกด้านต่อการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งสำคัญของโลก พบว่าโครงการภายใต้แนวคิดนี้ได้รับความสนใจและมีผู้สมัครเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ 2 โครงการ คือ โครงการประกวดคลิปวิดีโอรณรงค์ภายใต้หัวข้อ “ไทยพร้อม” (VDO Contest APEC 2022) และ โครงการประกวดเมนูอาหารแห่งอนาคต “Future Food for Sustainability” แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของภาคประชาชนต่อการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกของไทย
นายอนุชา ย้ำ การประชุมเอเปก 2565 ภายใต้แนวคิด “Open. Connect. Balance.” ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และมีโอกาสต้อนรับผู้นําและผู้เข้าร่วมประชุมจาก 20 เขตเศรษฐกิจเอเปกได้จบลงไปแล้ว ท่ามกลางความสําเร็จอันเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน จนได้รับความชื่นชมจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก ส่งผลดีต่อประเทศไทยในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปกให้ตอบโจทย์ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเผชิญอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการถอดบทเรียนผลกระทบจากวิกฤติโควิด–19 เพื่อมุ่งหน้าขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางไว้
...
นายอนุชา กล่าวชื่นชมกิจกรรมการประกวดภายใต้แนวคิด “ไทยพร้อม” แสดงความพร้อมของคนไทยทุกด้านต่อการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งสำคัญของโลกว่า ทุกผลงานล้วนนําเสนอแนวคิดที่สอดคล้องต่อการขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลชนะเลิศการประกวดคลิป ที่นําเรื่อง “ข้าวรักษ์โลก” มาเป็นประเด็นในการดําเนินเรื่อง ซึ่งหากภาคเกษตรกรรมของไทยตั้งแต่ต้นน้ําจนถึงปลายน้ํา ให้ความสําคัญต่อ สิ่งแวดล้อม เราจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และยังเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศอีกด้วย รวมถึง ผลงาน “เลอชั้น” ขนมชั้นลดน้ําตาล เสริมใยอาหารและโพรไบโอติก ซึ่งใช้สีสกัดจากแก้วมังกร สะท้อนวัฒนธรรมการทําขนมของไทย โดยลดวัตถุดิบเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเราได้เห็นถึงเมนูของอาหารแห่งอนาคตที่ได้นําเสนอ Soft Power ของไทยซึ่งพร้อมจะเป็นครัวแห่งอนาคตของโลก สอดคล้องแนวคิด 3 ดี คือ ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพ และดีต่อโลก ทั้งนี้พบว่าทั้ง 2 โครงการได้รับความสนใจจากประชาชน เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติเป็น สอดคล้องกับการที่รัฐบาลต้องการสร้างการมีส่วนร่วมในภาคประชาชนต่อการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้.