กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.พร้อม แล้ว สำหรับการเลือกตั้งที่อาจมีขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งที่แก้ไขใหม่ ไม่มีประเด็นใดที่ขัดรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งคราวนี้จะเป็นการเลือกตั้ง ส.ส. 500 คน เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

เป็นการเลือกตั้งที่ใช้บัตร 2 ใบ และใช้ 100 เป็นตัวหารสัดส่วนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นักวิเคราะห์การเมืองเชื่อว่าการเลือกตั้งแบบนี้ พรรคที่ได้เปรียบจะได้แก่พรรคใหญ่ หรือพรรคขนาดกลาง ส่วนพรรคขนาดเล็กหรือพรรคจิ๋วบางส่วนจะต้องสูญพันธุ์ เพราะจะต้องได้คะแนนเสียงราว 350,000 เสียง จึงจะได้ ส.ส.หนึ่งคน

การเลือกตั้งแบบใช้บัตร 2 ใบ และใช้ 100 เป็นตัวหาร ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการเลือกตั้งไทย แต่เคยใช้มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 จนเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน เพราะบัตร 2 ใบ ใช้เลือก ส.ส.แบ่งเขต 1 ใบ เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 1 ใบ ประชาชนสามารถเลือกได้ทั้ง “คนที่รัก” และ “พรรคที่ชอบ”

แต่การเลือกตั้งที่ใช้บัตรใบเดียว แบบปี 2562 และหารด้วย 500 ตามรัฐ ธรรมนูญ 2560 ได้สร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทยใหม่ ทำให้มีพรรคลงแข่งขันเลือกตั้งกว่า 70 พรรค ได้ ส.ส.เข้าสภา 26 พรรค ได้ ส.ส.แค่คนเดียว 12 พรรค เป็นเบี้ยหัวแตก ต้องตั้งรัฐบาลผสมเกือบ 20 พรรค แต่เป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ

ประเทศไทยได้แบบอย่างการปกครองระบบรัฐสภา ที่ลอกแบบมาจากประเทศประชาธิปไตยในยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมนี นอร์เวย์ เดนมาร์ก และสวีเดน ล้วนแต่ก้าวหน้า ทั้งด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ประเทศเหล่านี้มีระบบพรรคแบบ 2 พรรค หรือน้อยพรรค จึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มั่นคง มีประสิทธิภาพ

...

แต่ประเทศไทยส่งเสริมระบบหลายพรรค เคยมีรัฐบาลผสมร้อยพ่อพันแม่ บริหารประเทศไม่เอาไหน ซํ้ายังสกัดกั้นไม่ให้การเมืองก้าวหน้าด้วยการเข้าสู่ระบบ 2 พรรคอย่างที่เคยเป็น จากผลการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มีพรรคคู่แข่งเหลือแค่ 2 พรรค คือพรรคไทยรักไทยกับพรรคประชาธิปัตย์

ผลการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ชนะ แม้จะเปลี่ยนเป็นพรรคใหม่ ฝ่ายอนุรักษนิยมที่ยึดแนวทางอำนาจนิยม อ้างว่าเป็น “เผด็จการรัฐสภา” ทั้งๆที่ยังมีพรรคฝ่ายค้านที่มี ส.ส.เพียงพอ ที่จะตรวจสอบรัฐบาลได้ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ เรื่องนี้กลายเป็นข้ออ้างหนึ่งในการยึดอำนาจโค่นล้มประชาธิปไตย.