มติ ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา “ยิ่งลักษณ์-ครม.” อนุมัติจ่ายเงินเยียวยา กว่า 1.9 พันล้านบาท ให้แก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง ปี 48-53 ชี้ ทำชอบด้วยกฎหมายแล้ว

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. รายงานข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติตีตกข้อกล่าวหาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวม 36 ราย กรณีถูกกล่าวหาว่า จ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548-2553 โดยไม่มีอำนาจและไม่มีกฎหมายรองรับ เพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 66 และตามประมวลกฎหมายอาญา

สำหรับคดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 6 มี.ค.55 ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหาย ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือความขัดแย้งทางการเมืองตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ม.ค.55 ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน โดยนำหลักการเยียวยาของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธานขึ้นกล่าวอ้าง แต่ได้ยกข้อเสนอขึ้นเพียงบางส่วนและเพิ่มเติมหลักเกณฑ์อื่นๆ นอกเหนือจากที่ คอป. เสนอ และอนุมัติวงเงิน จำนวน 2,000 ล้านบาท ให้มีการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตั้งแต่ปลายปี 48 จนถึงเดือน พ.ค.ปี 53 รวมผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาครั้งนี้ จำนวน 2,369 ราย ประมาณการวงเงินเยียวยา จำนวน 1,931,530,000 บาท

...

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาในส่วนของ นายสุชาติ ธาดาธํารงเวช เมื่อครั้งดํารงตําแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ นางนลินี ทวีสิน เมื่อครั้งดํารงตําแหน่ง รมต.ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ เมื่อครั้งดํารงตําแหน่ง รมช.คลัง ว่า ในวันที่ 5 มี.ค.55 นายสุชาติ ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ครม. เนื่องจากมีภารกิจเปิดงานอนาคตการศึกษาไทยที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ส่วน นางนลินี ได้เข้าประชุม ครม.เพียงครึ่งชั่วโมงและกลับบ้าน เพื่อเตรียมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ นายวิรุฬ หลังจากผ่านวาระของกระทรวงการคลังแล้ว ได้รีบออกจากห้องประชุม ครม. เพื่อประชุมร่วมกับคณะกรรมการกําหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ได้นัดไว้ จึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานได้กระทําการอันมีมูลตามข้อกล่าวหา จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียงให้ข้อกล่าวหาตกไป

ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังได้พิจารณาในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรีที่เหลืออีกรวม 30 รายว่า แม้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามสิบราย จะได้ร่วมลงมติในวันดังกล่าว แต่เป็นการทําหน้าที่ในฐานะองค์กรบริหาร หรือ ครม. ซึ่งเป็นการกระทําตามอํานาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 174 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แต่ไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามสิบรายได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีหรือ ครม.ให้มีอำนาจหน้าที่หรือได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบในการดําเนินการเกี่ยวกับการเยียวยาครั้งนี้ เนื่องจากมีการมอบหมายและแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นมาดำเนินการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองไว้เป็นการเฉพาะ ได้แก่ ปคอป. คณะอนุกรรมการด้านเยียวยาทางแพ่ง และการฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่น และคณะทํางานช่วยเหลือ เยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม ฉะนั้น เมื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามสิบรายมิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมายให้นํานโยบายเกี่ยวกับการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2558-2553 ตามที่ ครม.มีมติไปปฏิบัติ ให้บรรลุผล ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีอํานาจหน้าที่ ไม่อาจกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาตามที่ถูกกล่าวหาได้ กรณีไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้กระทําการอันมีมูลตามข้อกล่าวหา ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง ให้ข้อกล่าวหาตกไป

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังได้พิจารณาในส่วนของ นายยงยุทธ และ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดํารงตําแหน่ง รมว.คลัง โดยที่ประชุมเห็นว่า จากการไต่สวนรับฟังได้ว่า การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548-2553 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ ครม.ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่าจะเยียวยาและฟื้นฟูแก่บุคคลทุกฝ่าย ซึ่งได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากความเห็นที่แตกต่าง สอดรับกับความเห็นของ คอป. ที่เสนอให้ใช้มาตรการพิเศษที่ไม่ยึดติด อยู่กับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบของกฎหมายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานและองค์กรที่ดําเนินการในกรณีปกติ ซึ่ง นายยงยุทธ มีบทบาทเป็นผู้เสนอหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ด้านการเงินต่อ ครม. ส่วนการกระทําของนายกิตติรัตน์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสํานักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง มีบทบาทที่ต้องบังคับบัญชาข้าราชการหน่วยงานทั้งสองแห่งให้ต้องดําเนินการเสนอเรื่อง จ่ายเงินเยียวยาต่อ ครม. จึงเป็นการกระทําอันเป็นผลโดยตรงมาจากนโยบายที่ ครม.ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องทางรัฐประศาสโนบาย หรือเป็นการกระทําในทางการเมือง ซึ่งอยู่ในอํานาจของ ครม.ที่จะกระทําได้สอดคล้องกับคําสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 87/2557 ฉะนั้น การกระทําของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายจึงหาใช่เป็นการกระทําโดยพลการหรืออําเภอใจ กรณีไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้กระทําการอันมีมูล ตามข้อกล่าวหา จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังได้พิจารณาในส่วน นายปกรณ์ พันธุ เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคม และสวัสดิการ และในฐานะประธานคณะทํางานช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง ว่า นายปกรณ์ มีหน้าที่ในดําเนินการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับ ผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินจาก เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง พ.ศ. 2548-2553 และเป็นการปฏิบัติตามมติ ครม.ให้นโยบาย กรณีนี้ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้กระทําการอันมีมูลตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด มีดังนี้ 1. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 2. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย และในฐานะประธาน ปคอป. 3. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 4. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง 5. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 6. นายชุมพล ศิลปอาชา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา 7. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 8. นางนลินี ทวีสิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 9. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 10. พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม

11. นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.คลัง 12. นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.คลัง 13. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ 14. นายสันติ พร้อมพัฒน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 15. นายธีระ วงศ์สมุทร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.เกษตรและสหกรณ์ 16. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ 17. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม 18. พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม 19. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม 20. นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

21. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 22. นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พลังงาน 23. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ 24. นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ 25. นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย 26. นายฐานิสร์ เทียนทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย 27. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม 28. นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.แรงงาน 29. นางสุกุมล คุณปลื้ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม 30. นายปลอดประสพ สุรัสวดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

31. นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ 32. นายศักดา คงเพชร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ 33. นายวิทยา บุรณศิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข 34. นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข 35. หม่อมราชวงศ์พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม และ 36. นายปกรณ์ พันธุ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ