บอร์ด กพช.เคาะ 3 มาตรการ ดูแลค่าไฟ ม.ค.-เม.ย. 66 จ่อปรับทะลุ 5 บาทต่อหน่วย มุ่งดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน กลุ่มเปราะบางไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ตรึงราคาที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่วน 301-500 หน่วยให้ส่วนลดแบบขั้นบันได

วันที่ 25 พ.ย. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า กพช.ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังคงมีความผันผวนสูงจึงได้เห็นชอบแนวทางการลดภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 66 มี 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.การบริหารก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า โดยจัดสรรก๊าซฯ จากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซฯเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยก่อน ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และมอบหมายให้ กกพ. เร่งศึกษาการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้ากลุ่มประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน

2. กพช.ได้ขอความร่วมมือจาก บมจ.ปตท. ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. 66) มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยแบ่งการจัดสรร ดังนี้ ส่วนที่ 1 เป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซฯ ให้กับ กฟผ. เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป ส่วนที่ 2 เป็นส่วนลดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงแยกก๊าซฯ ในการคำนวณต้นทุนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิง

...

3. กพช. มีมติเห็นชอบให้ บมจ.ปตท. ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริหารจัดการผลกระทบของราคาก๊าซธรรมชาติต่อค่าไฟฟ้า โดยให้ ปตท. คิดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. IPP และ SPP ในระดับราคาเดียวกับที่ใช้การประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตั้งแต่เดือนที่ กพช. มีมติเป็นต้นไป

“ต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะขยับขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 5.37 บาทต่อหน่วยจากอัตราเฉลี่ยงดปัจจุบันที่ 4.72 บาท/หน่วย โดย กพช.ให้นโยบายช่วยเหลือประชาชนกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านที่อยู่อาศัยไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าจะไม่ขึ้นราคา ใช้เกณฑ์การใช้เหลือเช่นเดียวกับงวดปัจจุบัน คือ หากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.7 บาทต่อหน่วย ส่วนกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้า 301-500 หน่วยต่อเดือนจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้า 15-45% โดยงวดปัจจุบันใช้งบประมาณกลางของรัฐเข้าดูแล 7,000 ล้านบาท แต่ งวดใหม่ บมจ.ปตท.เข้ามาร่วมรับภาระรวม 6,000 ล้านบาท และอาจใช้งบกลางฯบางส่วนซึ่งก็คงจะลดต่ำลง ซึ่งจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชนระยะสั้นไปก่อน” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. มีมติเห็นชอบการดำเนินการตามมาตรการการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) ในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้ก๊าซฯ โดยกำหนดให้ผลตอบแทนจากการดำเนินมาตรการ Demand Response เป็นส่วนหนึ่งของค่า Ft และมอบหมายให้ กกพ. เร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้สามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวมต่อไป อีกทั้งที่ประชุม กพช. ได้มติมอบหมายให้ กบง. พิจารณาดำเนินการและกำกับดูแลแนวทางการบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤติราคาพลังงานต่อไป

“ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง สหพันธรัฐรัสเซีย และประเทศยูเครน ที่ยังไม่มีข้อยุติส่งผลให้ราคาพลังงานโลก มีความผันผวนและมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง ราคา LNG (JKM) ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปี 2564 ที่ 10 $/MMBTU เป็น 30 $/MMBTU ในเดือน ต.ค. 65 การประมาณการแนวโน้มราคา LNG ในปี 2566-2567 อยู่ที่ 25-33 i$/MMBTU ซึ่งกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งอ่าวไทยลดลงจึงจำเป็นต้องนำเข้า Spot LNG ที่มีราคาสูงเข้ามาทดแทนเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าของประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตามมองว่า ราคาพลังงานช่วง ม.ค.-เม.ย.66 น่าจะเป็นจุดที่พีกสุดแล้วหากการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนไม่ขยายวงกว้าง” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว.