“อนุทิน” รองนายกฯและรมว.สธ.ตอบกระทู้สด แจงละเอียด ยัน นโยบายกัญชา “เสรีแต่ไม่ไร้การควบคุม”  วอน สภาผ่านกฎหมายกำกับการใช้งานรักษาประโยชน์ประชาชน

วันที่ 24 พ.ย. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตอบกระทู้สดในสภาผู้แทนราษฎร โดยนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ได้ตั้งกระทู้สามคำถามเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายกัญชาของรัฐบาล ว่า เป็นนโยบายกัญชาเสรี จริงหรือไม่ เหตุใดต้องปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด และจะมีแนวทางป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิดเพื่อควบคุมผลกระทบทางสังคมอย่างไร

โดยนายอนุทิน ได้ตอบกระทู้ดังกล่าวว่า “รัฐบาลมีนโยบายกัญชาเสรี แต่เป็นเสรี แบบมีการควบคุม ไม่ใช่ไร้การควบคุม โดยรัฐบาลมีนโยบายคืนสมุนไพรกัญชาและภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้โดยมีกฎหมายกำกับ”

พร้อมกล่าวถึงรายละเอียดในนโยบายเร่งด่วนข้อสี่ของรัฐบาลที่ระบุว่า เป็นไปเพื่อ “ต่อยอดภูมิปัญญาและความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน ในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป รวมทั้งเร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของประชาชน โดยกําหนดให้มีกลไกการดําเนินงานท่ีรัดกุมเพื่อมิให้เกิดผลกระทบทางสังคม ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด” นั่นคือเหตุผลที่ต้องมีพระราชบัญญัติกัญชากัญชงมาควบคุมการใช้กัญชา

จากนั้นได้กล่าวย้ำว่า มูลค่าการตลาดของกัญชานั้นมีนับแสนล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของคนไทย ซึ่งทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง พรรคการเมืองหลายพรรคก็ได้มีนโยบายเกี่ยวกับกัญชาเช่นกัน

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า หลังจากสภารับหลักการร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง นั้น ได้เห็นชาวบ้านแสดงออกว่า ดีใจที่ผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันรักษาประโยชน์ของประชาชน ต่อจากนั้น ร่างพระราชบัญญัติกัญชงกัญชาที่เดิมเสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ก็ได้กลายเป็นร่างของกรรมาธิการที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรของประชาชน โดยผู้ทรงคุณวุฒิได้มีการรับฟังประชาชนจากทุกสารทิศ จนได้มาเป็นร่างกฎหมายของกรรมาธิการ ที่จะนำเสนอต่อสภาในวาระที่สอง จึงอยากให้สภาได้คำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ที่จะมีกฎหมายมาควบคุมไม่ให้มีการใช้ในทางที่ผิด

ส่วนการปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ห้า ยกเว้นสารสกัดจากกัญชาที่มี THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนักที่ยังคงเป็นยาเสพติดนั้น นายอนุทิน ยืนยัน ว่า เป็นไปโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และประกาศของรัฐมนตรีเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย มีเหตุผลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ กัญชามีประโยชน์มากกว่าโทษ ความเสี่ยงจากกัญชามีในระดับที่ไม่รุนแรงและควบคุมได้ ไม่ต่างจากเหล้า บุหรี่ นั่นคือเหตุผลที่คืนกัญชาให้เป็นพืชสมุนไพรให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ พร้อมย้ำว่าผลของการปลดกัญชาจากยาเสพติดนั้น ทำให้ประชาชนมีโอกาส เข้าถึงกัญชาและใช้ประโยชน์ได้ตามกฎหมายที่ออกมากำกับ

นอกจากนี้ นายอนุทิน ชี้แจงว่า การถอดกัญชาจากยาเสพติดได้ลบอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดในการศึกษาวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีการใช้กัญชากัญชงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน หน่วยงานของรัฐและเอกชนไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวหรือ ตั้งงบประมาณเพื่อศึกษาวิจัยพัฒนากัญชา หากยังเป็นยาเสพติด ในขณะที่การถ่ายทอดภูมิปัญญาไทย การต่อยอดองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทย ตำรับยาหมอพื้นบ้านของไทยที่ใช้กัญชาซึ่งมีมานานกว่า 300 ปี ก็สูญหายไป ไม่มีการพัฒนาไม่มีการสืบทอด เพราะกัญชาถูกแปะฉลากว่าเป็นยาเสพติด

พร้อมให้ข้อมูลเสริมว่า มีการศึกษาว่า ตลาดกัญชาในประเทศไทยมีมูลค่าสูงกว่า 28,000 ล้านบาทในปี 2565 และภายใน 3 ปี จะมีมูลค่ามากกว่าห้าหมื่นล้านบาท

“ถ้าหากมีการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง ตามที่มีหลายท่านให้คำแนะนำมา ก็จะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจนี้หดตัวไป ทำให้ความมั่นใจลดน้อยถอยลง โอกาสในการสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวก็จะลดน้อยถอยลงไป”

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงแนวทางป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิดเพื่อควบคุมผลกระทบทางสังคม โดยย้ำว่า “การมี พ.ร.บ.กัญชากัญชง จะเป็นการกำกับควบคุมการใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างสมบูรณ์ตามการพิจารณาของสภา”

...

อย่างไรก็ดี นายอนุทิน ชี้แจงว่า เมื่อกัญชาถูกถอดออกจากบัญชียาเสพติดแล้วนั้น ระหว่าง พิจารณา พ.ร.บ.ซึ่งกินเวลานานกว่าที่คาดไว้ ก็ยังมีกฎหมายระดับรอง คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข มาบังคับใช้ ยังสามารถควบคุมการใช้ในทางที่ผิดได้ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเมื่อเทียบกับยาเสพติดประเภทอื่น ซึ่งในวันนี้ก็ไม่ควรเทียบแล้ว เพราะกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด มีกฎหมายระดับรองกำกับดูแล เช่น ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ ห้ามใช้ดอกกัญชาปรุงอาหาร ห้ามจำหน่ายกัญชาให้นักเรียนนักศึกษา เด็กมีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

นอกจากนี้ มีประกาศที่ระบุว่า ผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่มีส่วนผสมของกัญชาต้องแจ้งต่อกรมอนามัยและแสดงสัญลักษณ์ให้ผู้บริโภคทราบ ผู้นำกัญชาไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องขออนุญาต อย. และส่งผลการศึกษามาตรฐานความปลอดภัย ผู้ที่ฝ่าฝืนปฏิบัติขัดต่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีโทษทั้งจำและปรับ และล่าสุดคือประกาศสมุนไพรควบคุมฉบับปรับปรุง ที่เน้นคุมเข้ม “ช่อดอก” ซึ่งเป็นส่วนที่สังคมกังวลมากที่สุด ส่วนอื่นๆ ของกัญชา ได้แก่ ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก ใบ นั้น ไม่เป็นยาเสพติดมาตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2563 แล้ว เนื่องจากมีผลการศึกษาชี้ชัดว่าส่วนอื่นๆ ของกัญชา ที่ไม่ใช่ช่อดอก มีสารที่เป็นอันตรายต่ำ และไม่จัดเป็นยาเสพติด ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ตามการกำกับของประกาศที่เกี่ยวข้อง

นายอนุทิน กล่าวว่า ตนมั่นใจว่า ตั้งแต่มีการดำเนินนโยบายให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ นั้น ยังไม่มีปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ มีคนที่ขายอย่างจดทะเบียนถูกต้อง ส่วนคนที่แอบขาย หรือคนจงใจทำผิดกฎหมาย ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ.