นายกฯ เปิดปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามนโยบายรัฐบาล กำชับหน่วยงานดำเนินการตามแผน สั่งย้ำขจัดยาเสพติดให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย เจ้าหน้าที่ติดยาผู้บังคับบัญชาโดนด้วย
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามนโยบายรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 พฤศจิกายน 2565 - 31 มกราคม 2566) โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แม่ทัพภาค 1-4 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ผู้บัญชาการกองกำลังทหาร ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้บังคับหน่วยทหาร ศึกษาธิการจังหวัดและประธานกลุ่มเจ้าหน้าที่ประสานงานยาเสพติดระหว่างประเทศ นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก (UNODC) และนายคาร์สเท่น แอนเดอร์เซ่น ผู้แทนหน่วยประสานงานยาเสพติดและอาชญากรรมต่างประเทศ ประจำประเทศไทย (FANC) เข้าร่วมด้วย
...
โดยนายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ชมรายการทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด ชมนิทรรศการผลการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดประจำปี 2565 ที่มีผลการปฏิบัติการปราบปรามและยึดทรัพย์เครือข่าย นายโล่ง แซ่ลี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายสำหรับเปิดปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามนโยบายรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ การแก้ไขปัญหาให้ลดลงหรือหมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย จำเป็นต้องมีการบูรณาการกันของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลจึงกำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ และเป็น 1 ใน 12 นโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการปฏิบัติที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในระดับนโยบาย คือ การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแต่ซ้ำซ้อนกัน จาก 24 ฉบับ ให้เหลือ “ฉบับเดียว” เป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อ 9 ธันวาคม 2564 ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการมาตรการด้านการปราบปราม สามารถจับกุมและขยายผลไปสู่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ รวมทั้ง สามารถยึด-อายัดทรัพย์สินได้มากถึง 11,000 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมมือกันดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดฯ ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ตามที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติได้กำหนด เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ดังนี้
ด้านการป้องกัน : ให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างภูมิคุ้มกันด้วยความรู้และหลักคิดที่ถูกต้องให้กับเยาวชน สร้างกลไกเฝ้าระวังยาเสพติด เพื่อป้องกันสถานศึกษา ให้เป็น “พื้นที่สีขาว” พื้นที่ปลอดภัยอยู่เสมอ และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว และสนับสนุนการบำบัดรักษาโดยชุมชน
ด้านการสกัดกั้น : ให้กองทัพ เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติด ตามแนวบริเวณชายแดน
ด้านการปราบปราม : ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเชิงรุก ในการปราบปราม-จับกุมผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ และจัดส่งข้อมูลให้สำนักงาน ป.ป.ส. ขยายผลไปสู่การทำลายเครือข่าย จับกุมนายทุน และผู้เกี่ยวข้อง
ด้านการยึดอายึดทรัพย์สิน : ให้สำนักงาน ป.ป.ส. บูรณาการอย่างใกล้ชิดกับสำนักงาน ปปง. และกรมสรรพากร ในการขยายผล-ยึดทรัพย์สินผู้ค้ายาเสพติด ที่นำเงินจากยาเสพติดไปฟอกเงิน และให้หน่วยงานศาลและอัยการ เร่งรัดกระบวนการทางคดียาเสพติดให้มีความรวดเร็วขึ้น
ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ : ให้ใช้กลไกการดำเนินงานตามโครงการสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าอากาศยานสากล (AITF) และโครงการสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าเรือสากล (SITF) ซึ่งต้องประสานงานและแลกเปลี่ยนข่าวสารกับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และสร้างช่องทางสื่อสารเร่งด่วนที่มีประสิทธิภาพ ในทุกระดับ
ด้านการบำบัดรักษาฟื้นฟู : ให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดจัดทำกฎหมายลำดับรอง หรืออนุบัญญัติ กฎกระทรวงระเบียบประกาศต่าง ๆ สำหรับใช้ในการบำบัดรักษา คัดกรองผู้เสพ-ผู้ติดยาเสพติด แล้วนำเข้าสู่กระบวนการอย่างเหมาะสม โดยจัดตั้งสถานที่บำบัดรักษา ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลประจำตำบล (รพ.สต.) โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง หรือมีอาการทางจิต ที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ให้มีอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำหน้าที่เป็น “คู่บัดดี้” ติดตามผู้ป่วยในชุมชน จนกว่าอาการจะหายขาด ตลอดจนสร้างระบบการบำบัดฟื้นฟู ในรูปแบบ “ชุมชนเป็นฐาน” (Community Based Treatment : CBTx) พร้อมทั้งให้กระทรวงแรงงาน ส่งเสริมให้ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูมีทักษะความรู้ในสาขาวิชาชีพ พร้อมจัดหาตำแหน่งงานให้มีงานทำ
นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเพิ่มเติม ให้พิจารณาการจัดตั้งศูนย์บูรณาการฐานข้อมูลยาเสพติด ที่สำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ให้ทุกหน่วยงานสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ พร้อมให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติการของตนในทุกระดับ และให้ทุกหน่วยงานสำรวจ และตรวจสอบข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัด ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการค้ายาเสพติด หากพบว่ากระทำความผิดต้องถูกลงโทษทั้งทางวินัยและอาญา ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะต้องถูกลงโทษด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวในช่วงท้ายว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะขจัดยาเสพติดให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย ขณะนี้ทุกพื้นที่ได้มีการบูรณาการภาคีเครือข่าย และระดมกำลังเจ้าหน้าที่อย่างเต็มสรรพกำลัง ซึ่งความสำเร็จที่ยั่งยืนจะต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในการเป็นหูเป็นตาให้ฝ่ายความมั่นคง นอกจากนี้การคืนคนดีสู่สังคมก็สำคัญ จึงขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายเป็นกำลังใจให้กับผู้รับการบำบัดรักษาได้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีของสังคม กลับไปเป็นลูกหลานที่ดีของครอบครัว เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความมั่นคงปลอดภัย เป็นสังคมปลอดยาเสพติด สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดไป