จากการประชุมสุดยอดเอเปกที่กรุงเทพมหานคร เห็นได้ชัดว่า คณะผู้นำโลกส่วนใหญ่มองว่า สงครามยูเครนเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงสุดของโลกในขณะนี้ แม้จะยอมรับว่าเอเปกไม่ใช่เวทีแก้ปัญหาด้านความมั่นคง แต่ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของเอเปกยังได้ออกแถลงการณ์ร่วมประณามสงครามยูเครน โดยตอกย้ำมติสหประชาชาติ

นั่นก็คือตอกย้ำมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่สมาชิกลงมติด้วยเสียงข้างมากท่วมท้น 141 เสียง ต่อ 35 เสียง ประณามการบุกยูเครนของรัสเซียด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ล่วงล้ำบูรณภาพดินแดนยูเครน ละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ และให้ถอนทันที ไทยเป็น 1 ใน 141 เสียง

แถลงการณ์ของที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปก ระบุว่า สงครามยูเครนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ก่อให้เกิดความทุกข์ยากอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษย์ ทำให้ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกเลวร้ายยิ่งขึ้น แต่ก็ตระหนักว่าเอเปกไม่ใช่เวทีในการแก้ปัญหาด้านความมั่นคง แต่เชื่อว่าจะช่วยปูทางสู่การเจรจายุติสงคราม

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย น่าจะรู้ตัวดี จึงไม่ยอมเดินทางมาร่วมประชุมที่สำคัญทั้งสามครั้งในกัมพูชา อินโดนีเซีย และไทย เพราะโดนรุมถล่มแน่ และกลายเป็นข่าวเสียหายไปทั่วโลก ส่วนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เข้าร่วมทั้งสามงาน พูดถึงความขัดแย้งของโลก แต่ไม่พูดถึงยูเครน

ในเอกสารซึ่งเป็นสุนทรพจน์ ที่เตรียมกล่าวต่อที่ประชุมสุดยอดเอเปก เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ผู้ยิ่งใหญ่ของจีนเตือนว่าอย่าให้ภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก กลายเป็นเวทีแข่งขันมหาอำนาจ อย่าพยายามก่อสงคราม เย็นยุคใหม่ ควรเดินทางเส้นทางสามัคคี และโทษ “มหาอำนาจเดิม” ที่ประกาศจะ “จัดระเบียบโลกใหม่” เป็นภัยคุกคาม

...

แต่ไม่ได้ระบุว่า สงครามยูเครนเป็นภัยคุกคามหรือไม่ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี น่าจะพอใจอย่างยิ่งต่อผลการประชุม เพราะที่ประชุมยอมรับแนวความคิดที่รัฐบาลไทยเสนอ นั่นก็คือ “เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว” เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และครอบคลุม

หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเอเปก พล.อ.ประยุทธ์จะได้ตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของตนเสียที แต่มีรายงานข่าวว่ามีการเมืองภาคประชาชนกว่า 50 กลุ่ม คัดค้านเศรษฐกิจบีซีจีของรัฐบาล น่าจะเป็นเหตุให้มีการชุมนุมต่อต้าน และเกิดการกระทบกระทั่ง ถ้าบีซีจีเป็นยาวิเศษจริง ทำไมจึงไม่งัดออกมาใช้ ปล่อยรอนานกว่า 8 ปี.