ภริยานายกฯ นำคณะคู่สมรสผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน เผยแพร่ผลงานศิลปหัตถกรรมประณีตศิลป์ไทยสู่สายตาชาวโลก ยกพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสตามแนวคิด Open. Connect. Balance บุกเบิกเศรษฐกิจโมเดล BCG
วันที่ 18 พ.ย. 65 เมื่อเวลา 09.30 น. รศ.นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี ได้นำคณะคู่สมรสผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก จาก 7 เขตเศรษฐกิจ เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีคณะภริยา รองนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ให้การต้อนรับ
สำหรับคณะคู่สมรสผู้นำฯ ที่เข้าร่วมในครั้งนี้ ประกอบด้วย ศ.เผิง ลี่ หยวน สาธารณรัฐประชาชนจีน, นางอิเรียนา โจโค วิโดโด สาธารณรัฐอินโดนีเซีย, นางยูโกะ คิชิดะ ญี่ปุ่น, นางลูอิส คาโช อาราเนตา-มาร์โคส สาธารณรัฐฟิลิปปินส์, นางโซเฟีย จาง จีนไทเป, นายดักลาส เอ็มฮอฟฟ์ สหรัฐอเมริกา, และนางเจิ่น เหวียต ทู สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
...
รศ.นราพร กล่าวระหว่างการนำคณะคู่สมรสผู้นำฯ ชมพิพิธภัณฑ์ว่า ในปี 2565 พร้อมกับการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปก ประเทศไทยได้มีการเฉลิมฉลองในวาระปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งการได้เชิญคณะคู่สมรสผู้นำฯ เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน อันซึ่งพระองค์ทรงก่อตั้ง จะเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะได้เผยแพร่ศิลปะอันเป็นภูมิปัญญาของคนไทย พร้อมกับเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่พระองค์ท่านทรงดำเนินเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งมีแนวทางที่สอดคล้องกับแนวคิดของการประชุมเอเปกในปีนี้ นั่นคือ เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล (Open. Connect. Balance)
โดยพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านได้สนับสนุนให้ชาวบ้านผู้ด้อยโอกาสได้เปิดโลกทัศน์ด้วยการเรียนรู้ที่จะเป็นช่างฝีมือ มีการเชื่อมต่อกับผู้ที่ชื่นชอบศิลปะ เพื่อนำผลงานของพวกเขาไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น ทั้งยังรักษาสมดุลระหว่างบทบาทเกษตรกรและช่างฝีมือ และผลงานต่างๆ นั้นก็มาจากวัสดุในท้องถิ่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปรียบเหมือนการได้บุกเบิกเศรษฐกิจโมเดล BCG ตามแนวคิดที่ประเทศไทยผลักดันในเวทีเอปกในปีนี้
ภริยานายกรัฐมนตรี ได้นำคณะคู่สมรสผู้นำฯ ชมนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ฯ และการสาธิตงานหัตถศิลป์กับชิ้นงานที่จัดแสดง ได้แก่ งานจักสานย่านลิเภา และงานจักสานย่านลิเภาสอดปีกแมลงทับ งานสานเส้นเงิน งานคร่ำ งานถมทอง (สลักดุน) งานถมทอง (เขียนลาย-กัดกรด) งานผ้าปักไหมน้อย
พร้อมกันนี้ ภริยานายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้แทนมอบของที่ระลึกซึ่งได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา แก่คณะคู่สมรสผู้นำฯ เป็นกระเป๋าผ้าไหมไทยคอลเลคชั่น ‘S’Craft: Craftsmanship’ ซึ่งทรงออกแบบเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ โดยผลงานการออกแบบผ้าไหมทอมือจากท้องถิ่นทั่วประเทศ และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพนี้ แสดงถึงพระราชประสงค์ที่จะสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทย และสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในการส่งเสริมผ้าทอไทย และใช้ประโยชน์จากผ้าไหมไทยในระดับโลก
ภายหลังเสร็จสิ้นการเข้าเยี่ยมชมแล้ว ภริยานายกรัฐมนตรี ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่คณะคู่สมรสผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ณ โถงบุษบกจตุรมุขพิมาน ซึ่งบนโต๊ะอาหารได้จัดวางของที่ระลึกเป็นตลับถมเงินขนาดเล็ก พร้อมคำอธิบายชิ้นงานที่แสดงถึงภูมิปัญญาด้านศิลปะในข้าวของเครื่องใช้ของคนไทยที่มีมาอย่างยาวนาน เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่คณะคู่สมรสผู้นำฯ
นอกจากนี้ระหว่างมื้ออาหาร คณะคู่สมรสผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกยังได้รับชมการแสดงโขน "ทศกัณฐ์และนางเกญจกาย" ศิลปะการแสดงชั้นสูง ซึ่งเป็นศาสตร์และศิลป์อันทรงคุณค่าของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก ให้อยู่ในรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of Intangible Cultural Heritage of Humankind) เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา จากนั้น ภริยานายกรัฐมนตรี และคณะคู่สมรสผู้นำฯ ได้ถ่ายภาพร่วมกันบริเวณด้านหน้าบุษบกจตุรมุขพิมาน เยี่ยมชมร้านขายของที่ระลึก ก่อนเดินทางกลับเพื่อเข้าร่วมภารกิจที่เกี่ยวข้องต่อไป.