วิกฤตการณ์ความขัดแย้งความไม่ลงตัวทางการเมืองก็คือ “การเมืองแบบตาบอดคลำช้าง”...การที่ตาไม่บอดแล้วเห็นทั้งหมดก็คือเห็นความเป็นองค์รวมประเทศไทย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้พ้นวิกฤติ ถ้าเห็น “องค์รวม” ของประเทศ ก็จะไม่มีความขัดแย้งระหว่าง “ขวา” กับ “ซ้าย” อีกต่อไป

ความเป็นองค์รวมจะทำให้เกิดคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์...ถึงเวลาที่คนไทยจะต้องเห็นช้างทั้งตัวแล้ว โดยเฉพาะวิธีคิดแบบ “ทางสายกลาง” ซึ่งก็คือ “ทางสายปัญญา” ตามธรรมชาติ อันได้แก่ ความเป็นเหตุเป็นผลล้วนๆหรือความเป็นกระแสของเหตุปัจจัย ไม่มีความสุดโต่ง ไม่แยกข้างแยกขั้ว ไม่คิดเชิงปฏิปักษ์

แต่คิดเชิงปัญญา เมตตา หรือไมตรีจิต เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล ไม่ว่าจะเป็นการเมืองทางสายกลาง, เศรษฐกิจทางสายกลาง, การศึกษาทางสายกลาง

ปี พ.ศ.2566 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนใหญ่ทางการเมือง โดยเริ่มจากวิถีคิดที่ถูกต้อง วิถีคิดทางสายกลางไม่น่าจะผิด เพราะเกิดจากการบรรลุธรรมหรือบรรลุทางปัญญา...ผู้ทรงได้รับการเรียกขานว่าเป็นศาสดาของมนุษย์และเทวดา ดังคำสวดที่ว่า...“สัตถา เทวมนุสสานัง” (สัตถา = ศาสดา)

...

“ทางสายกลาง” แล้วจะทำให้ “ประเทศไทย” พ้นวิกฤติ...“โลก” ก็เช่นเดียวกัน ทางสายกลางเป็นความจริงตามธรรมชาติ จึงเป็นสากล ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ดังจารึกเสาพระเจ้าอโศก...“ความจริงมีชัยเหนือทุกสิ่ง”

ประเด็นสำคัญต้องไม่ลืมว่า “ความมีน้ำใจ” เป็นแก่นแกนของวัฒนธรรมร่วมของคนชาติไทย “ความมีน้ำใจ” เป็นฐานรากของลักษณะวัฒนธรรมไทยหลายอย่าง เช่น ความอ่อนโยนของรอยยิ้ม และสุขนิยม ความยืดหยุ่น ประนีประนอม ความเป็นชุมชน หรือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล ความเป็นมิตร

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ย้ำว่า “ความมีน้ำใจ” คือ “จุดแข็ง ของไทย”...ในขณะที่เป็นจุดอ่อนของโลก เพราะการขาดน้ำใจเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงและสงคราม ลองพิจารณาดูให้ดีๆเถิดจะเห็นว่าการขาดน้ำใจเป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์ความรุนแรง และความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

“เรื่องสงครามยูเครนและความตึงเครียดที่ไต้หวัน...ก็มีขึ้นเพราะเหตุนี้”

ศ.นพ.ประเวศ วะสี
ศ.นพ.ประเวศ วะสี

วัฒนธรรมที่ว่าอ่อนของไทยจึงกลายเป็นจุดแข็ง...ทุกฝ่ายโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยควรทำความเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งของคำว่า “วัฒนธรรม” ว่าไม่ใช่แค่ร้องรำทำเพลง เรือนไทย วงดนตรีไทย อย่างที่มหาวิทยาลัยทำกัน ในความหมายของวัตถุประสงค์ในข้อ...“ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม”

แต่วัฒนธรรมนั้นมีความหมายที่ลึกและครอบคลุมอย่างยิ่ง เพราะหมายถึง “วิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ” จึงรวมทุกสิ่งทุกอย่างในแผ่นดินหรือ “ภูมิ” นั้นๆ

เช่น ภูมิศาสตร์ ภูมิทัศน์ ภูมิประวัติ ภูมิปัญญา ภูมิธรรม หรือที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ใช้คำว่า “ภูมิบ้านภูมิเมือง”

ในการประชุม APEC ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนนี้...เป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะเป็นเจ้าภาพเชิญผู้นำประเทศมหาอำนาจคุยกันเรื่องสันติภาพ ตามพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว ร.9

“สงคราม” หรือ “สันติภาพ” เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของโลกและมนุษยชาติ

ถ้าโลกมีสันติภาพ โลกมีทรัพยากรและความรู้เพียงพอที่จะทำให้มนุษย์ทุกคนบนดาวนพเคราะห์ดวงนี้ มีความพออยู่พอกินและคุณภาพชีวิตที่ดี

เพราะฉะนั้น เป็นหน้าที่ของทุกคนและทุกองค์กรจะต้องเพียรพยายามสร้างโลกสันติภาพให้ได้

“ประเทศไทย” มีจุดแข็งเรื่องสันติภาพ พระเจ้าอยู่หัว ร.9 มีสายพระเนตรอันยาวไกลและลึกซึ้ง จึงมีพระราชดำรัสเช่นนั้น ประวัติศาสตร์เป็นประจักษ์พยานอย่างดีว่าวัฒนธรรมที่ยืดหยุ่น ประนีประนอมของไทย ทำให้คนทุกชาติและศาสนาที่มาพำนักในประเทศไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ดูที่อยุธยาก็ได้ สองฝั่งแม่น้ำเป็นที่ตั้งของชุมชนชาติและศาสนาต่างๆ มีทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ในขณะที่ดินแดนของตนมีความขัดแย้งและรุนแรงระหว่างศาสนาต่างๆ แม้ศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกาย แต่เมื่ออยู่ในประเทศไทยกลับอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพราะ วัฒนธรรมสันติภาพของไทย

ในสภาวะที่โลกมีความขัดแย้งและรุนแรงเช่นในปัจจุบัน ไทยควรจะใช้จุดแข็งข้างต้นขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพ อันจะเป็นการตอบสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชด้วย

โดยถือโอกาสคุยกันเรื่องสันติภาพในประเทศไทย เป็นปฐมฤกษ์ของการที่ประเทศไทยจะขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพเป็นเรื่องใหญ่ต่อไป

APRC (Asian Peace and Reconciliation Council) ที่ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นประธาน สมาชิกประกอบด้วยอดีตประธานาธิบดี และอดีตนายกรัฐมนตรีของหลายประเทศในเอเชีย เป็นองค์กรที่เหมาะมากในการเคลื่อนไหวเรื่องสันติภาพ

ดร.สุรเกียรติ์ ซึ่งมีสมรรถนะระดับโลก ดังที่เคยลงแข่งขันเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ ควรรีบคุยกับรัฐบาลไทยและลงมือติดต่อผู้นำประเทศมหาอำนาจทั้ง 3 โดยใช้เสน่ห์แบบไทย ทำให้เขาอยากมาประชุมที่เมืองไทย

หลังจากนั้นคนไทยฝ่ายต่างๆ ควรปรับตัวจัดตั้งเครื่องมือในการขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ...อาจตั้ง International Peace Institute วุฒิสภา...จัดตั้งกรรมาธิการสันติภาพ เพราะมีวุฒิสมาชิกที่สนใจเรื่องสันติภาพอยู่แล้ว

เช่น พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้เคยเป็นแม่ทัพกองกำลังรักษาสันติภาพในติมอร์ วุฒิสมาชิกวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ ซึ่งร่วมงาน APRC กับ ดร.สุรเกียรติ์

ภาคธุรกิจอาจร่วมกันจัดตั้ง P4P (People for Peace) อย่าลืมว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน การมีเครือข่ายแพทย์เพื่อสันติภาพที่เรียกว่า International Physicians for the Prevention of Nuclear War (IPPNW) เครือข่ายนี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ควรทำให้ P4P ได้ผล...จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

ที่สำคัญควรมีการจัดตั้ง King Bhumibol International Peace Foundation ให้เป็นองค์กรที่มีเกียรติสูงสุดในการขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพโลก และมีการให้รางวัลสันติภาพพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล

ทำนองเดียวกับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (Prince Mahidol Award) ที่มอบให้กับคนทุกชาติทุกภาษาในโลกที่มีผลงานดีเด่นเรื่องสันติภาพดังนี้เป็นต้น

การพัฒนาจึงควรเอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง เพราะบูรณาการไม่แยกส่วนอย่างการพัฒนาปัจจุบัน การแยกส่วนทำให้เสียสมดุล การเสียสมดุลทำให้ปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง วิกฤติ ไม่ยั่งยืน

“การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องเอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง” ศ.นพ.ประเวศ ว่า

จุดแข็งของวัฒนธรรมไทยคือ “ความมีน้ำใจ” จุดอ่อนของวัฒนธรรมตะวันตกคือ การขาดน้ำใจ จึงไม่ควรเอาอย่างเขาไปในทุกสิ่งทุกอย่าง หันมาเข้าใจจุดแข็งของวัฒนธรรมไทย และนำมาใช้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ทั้งในประเทศไทยและในโลก

“การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล” คือ “สันติภาพ”.