เอเปกเป็นภาพอีกชุดหนึ่งชี้ให้เห็นวิกฤตการณ์การต่างประเทศของไทย
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการระดับแนวหน้าของประเทศไทย ที่สนใจด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ทางทหาร และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณ ประจำปีการศึกษา 2564 ขยับมุมคิดถึงการประชุมเวทีระดับโลก
ที่ใกล้เปิดม่านเวทีผู้นำเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยประเทศ ไทยเป็นเจ้าภาพ
สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไทยก็เป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง
ตามข้อมูลเว็บไซต์ www.apec2022.go.th ระบุว่า เอเปกมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน ประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพี ประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของจีดีพีโลก มีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก
ธีมหลักใหญ่ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก “เปิดกว้าง-สัมพันธ์เชื่อมโยง-สมดุล” ซึ่งสอดคล้องกับสารัตถะ เนื้อหา นโยบายด้านต่างๆในการหารือครั้งนี้
โดยจังหวะนี้ภูมิภาคอาเซียนมีการประชุม ที่ทั่วโลกจับตามองถึง 3 เวที ประกอบด้วย การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนซัมมิต 10-13 พ.ย. กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา 15-16 พ.ย. บาหลี อินโดนีเซีย จัดประชุมจี 20 และประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปก กรุงเทพฯ 18-19 พ.ย.
...
ศ.ดร.สุรชาติ บอกว่า ระยะเวลา 3 เวทีกระชั้นกันมาก ผู้นำระดับโลกที่มาอาเซียนซัมมิตอาจไม่ไปบาหลี หรืออาจชวนให้ผู้นำส่วนหนึ่งที่มาอาเซียนซัมมิตแล้วไปต่อที่บาหลี สามารถตีความได้ 2 นัย
แต่เวทีที่บาหลีและเวทีที่กรุงเทพฯห่างกันแค่ 1 วัน ผู้นำที่เดินทางมาคงต้องเลือกว่าอยู่เวทีไหนบ้าง
เชื่อว่าผู้นำระดับโลกคงวางน้ำหนักไว้ที่จี 20 เพราะเป็นเวทีใหญ่ และรัฐบาลไทยคงเชื่อว่าผู้นำอาจไม่ไปอาเซียนซัมมิต แต่ไปจี 20 จบแล้วมาเอเปก
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในโลกใบใหม่ค่อนข้างเข้มข้น ไม่เอื้อต่อผู้นำระดับโลกออกนอกประเทศได้นาน หรือมองเวทีการประชุมว่า เรื่องสำคัญในเชิงสาระหารือจบที่จี 20 แล้วเดินทางต่อมาที่เอเปกจะมีความหมายอะไร ยกเว้นมาเยือนไทย จุดนี้เล่นกับการตีความเหมือนกัน ไม่รู้รัฐบาลประเทศต่างๆมอง 3 เวทีนี้ อย่างไร
มาถึงวันนี้หลายฝ่ายจึงตั้งข้อสังเกตเอเปกที่กรุงเทพฯ เงียบ เพราะขนาดเราอยู่ในประเทศ ไทย ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้นำประเทศไหนมาบ้าง นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชัดเจนไม่มา นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย คาดว่าจะมาไหม
นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน มาทั้งจี 20 และเอเปก เพราะต้องอาศัยช่องว่างที่ผู้นำชาติตะวันตกไม่มา ก็อยากแสดงบทบาทเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน
ตอนนี้กระทรวงการต่างประเทศควรแถลงเป็นทางการว่า ผู้นำประเทศไหนมาบ้าง เพื่อให้สังคมได้รับรู้ ท่ามกลางเสียงบ่นของสังคมที่รู้เกี่ยวกับเอเปกน้อยมาก สารัตถะแทบไม่รู้
เราแทบรู้เรื่องเดียว คืองานพิธีการ เช่น อาหาร การเดินทาง การปิดถนน เชื่อว่ารัฐไทย อยากโชว์อาหารเป็นซอฟต์เพาเวอร์ ต่อให้อาหารไทยเมนูเด็ด หรู ก็เป็นซอฟต์เพาเวอร์ไม่ได้ จนกว่าประเทศมีสารัตถะนำเสนอ และเอาอาหารเป็นตัวเชื่อม เปิดภาพพจน์ของประเทศไทย
ผู้นำและผู้เกี่ยวข้องควรมีหลักคิดว่าซอฟต์เพาเวอร์ แม้เป็นเรื่องใหม่ในทางความคิดบนเวทีโลก แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงรัฐศาสตร์ การเมืองระหว่างประเทศ ถกกันมาสักระยะหนึ่ง
ซอฟต์เพาเวอร์เริ่มจากพื้นฐาน “เสน่ห์-แรงจูงใจ” ถ้าไทยไม่มีเสน่ห์และสร้างแรงจูงใจไม่ได้ ต่อให้มีจุดเด่นก็ไปต่อไม่ได้
ไม่เหมือนเกาหลีใต้ สร้างเสน่ห์-แรงจูงใจ จนได้ยลโฉมวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่ชัดเจน
ทั้งหมดเกิดจากประชาธิปไตย นิติรัฐ สิทธิมนุษยชน เสถียรภาพรัฐบาลภายใต้กระบวนการรัฐสภา
ไม่ใช่เสถียรภาพรัฐบาลภายใต้รัฐบาลทหาร
ฉะนั้น สิ่งที่รัฐโฆษณาต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงของรัฐ โดยเฉพาะธีมหลัก “เปิดกว้าง-สร้างสัมพันธ์เชื่อมโยง-สมดุล”
แต่อีกฝ่ายโต้ว่าไทยกลายเป็น “ปิดแคบ-ไร้สัมพันธ์-ไร้สมดุล” อาทิ ปิดกั้น การชุมนุม รัฐไทยพยายามสร้างพื้นที่เขตกันชน เหมือนเป็นพื้นที่เขตห่วงห้าม ไม่ให้เข้าใกล้ที่ประชุม ถูกวิพากษ์ ไม่สอดรับกับรัฐไทย มันย้อนแย้งตัวเอง เป็นจุดขาย ที่ทำให้ขายไม่ได้ ถ้าโฆษณาแล้วตัวเราไม่เป็นแบบนั้น เหมือนขายสินค้าปลอม...มุขแป้ก!!
ฉะนั้น ความหวังว่า เวทีระหว่างประเทศจะเป็นจุดโฆษณาได้นั้น มันไม่ได้คิดมุมเดียว แค่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ แต่จะส่งเสริมภาพของตัวผู้นำคู่ขนานไป
ผู้นำไทยก็ไม่ชัดที่ได้สร้างบทบาทในเวทีภูมิภาค เวทีระดับโลกอย่างไรที่จะทำให้เอเปกน่าสนใจ วันนี้ความน่าสนใจของเอเปก เมื่อมองผ่านตัวผู้นำ นโยบายในประเทศ มันไม่มีจุดขาย ไม่น่าสนใจ
ผู้นำไม่เคยทำอะไร ไม่เคยมีบทบาท ไม่มีจุดขาย ไม่มีจุดยืนเท่าที่ควรบนเวทีโลก ย่อมคาดหวังว่าผู้นำจะเป็นจุดสนใจในเวทีโลกก็เป็นไปไม่ได้
ต้องยอมรับว่าบทบาทจี 20 อินโดนีเซีย ในเวทีระหว่างประเทศ เยอะกว่าไทย แม้กระทั่งบทบาทของกัมพูชาในเวทีภูมิภาคจากปัญหาในเมียนมา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากฐานะประธานอาเซียน
ขณะเดียวกัน ปัจจัยภายในก็ไม่ค่อยส่งเสริมบทบาทของรัฐไทย เช่น วันนี้พอการเมืองเริ่มมีปัญหา ท่ามกลางกระแสข่าวรัฐประหาร ต่างกับการเมืองในจาการ์ตา อินโดนีเซีย แม้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่กระแสข่าวรัฐประหารมันหมดไปแล้วในพนมเปญ กัมพูชา ยิ่งเป็นไปไม่ได้
สะท้อนการเมืองไร้เสถียรภาพ
อีกมุมหนึ่งเอเปกไม่ใช่เวทีเศรษฐกิจล้วน ยิ่งภายใต้สงครามยูเครน การแข่งขันรัฐมหาอำนาจบนเวทีโลก เวทีเศรษฐกิจเป็นเวทีการเมืองในตัวเอง สิ่งที่ต้องคิดต่อ คือสาระทางการเมือง
จี 20 ชัดเจนเสมือนเป็นเวทีที่ดึงผู้นำโลกมานั่งคุยเพื่อแก้ปัญหาระดับโลก เราไม่เห็นแบบนี้จากรัฐบาลไทย จนถูกตั้งข้อสังเกตเวทีเอเปกมันดูเงียบๆ
ไทยมีภูมิรัฐศาสตร์คล้ายเป็นสมรภูมิประลองยุทธศาสตร์ของ 2 ขั้วมหาอำนาจโลก ประเด็นนี้เกี่ยวโยงกับเวทีเอเปกอย่างไร ศ.ดร.สุรชาติ บอกว่า จุดที่ตั้งภูมิรัฐศาสตร์ของไทยน่าสนใจ เป็นข้อได้เปรียบ
อีกบทบาทหนึ่งในฐานะสมาชิกเก่าแก่ของอาเซียน และยังเป็นประเทศที่มีพรมแดนยาวมากติดกับเมียนมา ประเทศที่มีวิกฤติใหญ่ที่สุดในอาเซียน
แต่ไทยแทบไม่ได้แสดง ออกถึงเจตจำนงในเวทีระหว่างประเทศ
ต่างกับอินโดนีเซีย มีบทบาทน่าสนใจกรณีสงครามยูเครน ทั้งโหวตประณามรัสเซียในเวทีสหประชาชาติ แต่ไทยลงเสียงแบบกระมิด กระเมี้ยน งดออกเสียง
ไทยเล่นบทเดียวตลอด งดออกเสียง
บนเวทีโลกมองว่าการงดออกเสียง ไม่ใช่ความเป็นกลาง แต่ถูกมองว่าเกรงใจจีน แสดงถึงทิศทางนโยบายต่างประเทศเราเดินตามจีน สิ่งที่ไทยคิดกับสิ่งที่โลกมองไม่ตรงกัน
กรณีอาเซียนก็เห็นผู้นำหลายประเทศโหวตประณามรัสเซีย โดยไม่เกรงใจจีนและรัสเซีย ยกเว้นลาว และเวียดนาม เพราะมีความสัมพันธ์เก่าแก่ช่วงสงครามเย็น
สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดแล้วมองภาพรวมเอเปก สะท้อนวิกฤตการณ์ต่างประเทศของไทยมาตั้งแต่รัฐประหาร โดยเฉพาะรัฐประหารปี 57 ที่รัฐบาลทหารพยายามจัดทิศทางการต่างประเทศของไทยใหม่
ทำให้ประเทศไทยไม่มีอำนาจต่อรองบนเวทีโลก
ทำให้ต้องพึ่งจีน–รัสเซียไม่ให้ถูกชาติตะวันตกกด
สุดท้ายเอเปกไม่มีจุดขาย ลดบทบาทรัฐบาลไทย.
ทีมการเมือง