ความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศมีส่วนสำคัญ ในการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐเป็นอย่างยิ่ง ในยุคข้าวยากหมากแพง จะใช้นโยบายประชานิยม มากเกินไปก็ไม่ดี มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของประเทศมากเกินไปก็ไม่ดี ไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ก็ไม่ได้ ยกตัวอย่าง ประเทศไทย เคยมีรายได้ หลักจากการบริการ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่นอุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมโรงแรมที่พัก ทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 2 ล้านล้านบาท พอเจอกับ โควิด–19 เท่านั้น รายได้ 2 ล้านล้านหายไปในพริบตา ซึ่งไม่ใช่แต่รายได้หายไป ต้นทุนก็สูงขึ้นเพราะไม่มีรายได้มาจุนเจือ ในที่สุดก็เจ๊ง ปิดกิจการ นอกจาก ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ พอจะประคับประคองรอเวลาที่จะกู้ฟื้นคืนชีพ แต่สภาพของธุรกิจก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ต้องปรับทั้งโครงสร้าง บุคลากร และเป้าหมายขององค์กรกันใหม่

เช่นเดียวกับนโยบายภาคการเมือง นโยบายภาครัฐ เอะอะก็พักหนี้ ชดเชย เยียวยา ในระยะสั้นมีประโยชน์ ในระยะยาวเป็นโทษ เพราะงบประมาณที่ต้องนำมาใช้จ่าย ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ แค่ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเท่านั้น การพักนี้ ลดแลกแจกแถม ล้วนแต่ต้องใช้งบประมาณภาครัฐทั้งสิ้นและ งบประมาณภาครัฐที่เป็นแบบขาดดุลก็มาจากเงินกู้ทั้งสิ้น แค่ เงินกู้โควิด อย่างเดียวก็เป็นล้านล้านแล้ว เป็นเพราะมองแต่นโยบายประชานิยม แต่ไม่ได้มองถึงรายรับรายจ่ายของประเทศ การเงินคลังและการสร้างสมดุลของงบประมาณ

ความหวังจากการท่องเที่ยว การบริการ การบิน การโรงแรม ไม่เหมือนเดิมแน่นอน เนื่องจากยังไม่ฟื้นตัวจาก วิกฤติโควิด เต็มร้อย มาเจอกับ วิกฤติพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีกเด้ง หลับไม่ตื่นฟื้นไม่มี คนไม่มีตังค์เที่ยว คนยังกลัวโควิด โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรไม่พร้อมที่จะขับเคลื่อนได้ครบถ้วน ทำงานได้แค่ 80% ขนาดประเทศที่ถือว่ามีนักท่องเที่ยวใช้บริการเป็นอันดับต้นๆ เช่น ฝรั่งเศส การท่องเที่ยวยังฟื้นตัวกลับมาแค่ 18% คนจน คนเร่ร่อน ขอทานเต็มบ้านเต็มเมือง ภาครัฐไม่สามารถจะเยียวยาดูแลได้ทั่วถึง ขนาดรอบๆหอไอเฟล สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญยังมีคนเร่ร่อนมากางเต็นท์ถาวรนอนกันเต็มไปหมด

...

ในภาวะเช่นนี้ การคิดนอกกรอบในการฟื้นเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และควรสร้างความร่วมมือระหว่าง ประชากับรัฐ ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้มากที่สุดเนื่องจาก ภาคเอกชน ประชาชน รัฐวิสาหกิจ มีศักยภาพมากกว่า ภาครัฐ ที่ต้องแบกรับภาระเอาไว้บานตะไทอยู่แล้ว

ภาคเอกชนก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจในอนาคต ยกตัวอย่าง หลังจากการเกิดวิกฤติน้ำมันทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อหรืออัตราดอกเบี้ย ถ้าพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ดีก็ยิ่งกระทบหนัก สปป.ลาว เงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 36 ชาวบ้านตาดำๆจะอยู่กันอย่างไรคิดไม่ออก รัฐบาลก็แทบจะล้มละลาย

ปตท. จะขายแต่น้ำมันอย่างเดียวก็ไม่ได้ ในอนาคตทิศทางของพลังงานเปลี่ยนไป เช่น เป็นรูปแบบของ ไฮโดรเจน ที่จะมาทดแทนเชื้อเพลิงจาก ฟอสซิล เป้าหมายถึงขนาดใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน หรือ ธุรกิจยา กำลังเป็นเป้าหมายใหญ่ ที่ผ่านมาบริษัทยามีรายได้แบบก้าวกระโดดสองรอบ ประเทศที่ไม่มีบริษัทผู้ผลิตยา ได้แต่มองตาปริบๆอิจฉาความรวย ดังนั้น ปตท.ที่มีศักยภาพอยู่แล้วก็ต้องหันไปทำธุรกิจยาและหาพลังงานใหม่ๆเข้ามาทดแทนเกิดเป็นพลังประชา-รัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th