"สมศักดิ์" ตอบกระทู้ ชี้การติดประกาศจับผู้ร้ายชายแดนใต้ ได้รับการยกเว้นจาก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จนท.ทำตามหลักกฎหมาย แจงมีชุด กก.เจรจาเพื่อสันติ เผยยุติธรรมทำ ก.ม. 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องทำสังคมปลอดภัยขึ้น

เมื่อวันที่ 3 พ.ย.65 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตั้งกระทู้ถามเรื่องการติดประกาศภาพบุคคล ที่มีหมายจับที่ทางราชการต้องการตัว

นายอาดิลัน กล่าวว่า จากเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดเวลา 18 ปี มีบุคคลที่ทางราชการสืบสวน และต้องการจับกุมตัว เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายหรือเพื่อเหตุผลอื่นเป็นจำนวนมาก ในการดำเนินการให้ได้ตัวบุคคลเป้าหมายดังกล่าว มีการติดตามตัวสืบสวนในหลายวิธีการ แต่วิธีการที่หน่วยงานกระทำโดยการจัดพิมพ์ป้ายไวนิลขนาดใหญ่ ติดประกาศตามข้างถนนใกล้ด่านตรวจ หรือจุดแยกของถนนสายหลักทั่ว จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ยังเป็นข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมและสมควรหรือไม่ เมื่อเทียบกับความสูญเสียด้านความรู้สึกของผู้คนที่พบเห็นทั่วไป ทั้งด้านความรู้สึกอับอาย เป็นการประจานสกุลของบุคคลตามหมายที่ปรากฏ ที่มีอยู่ในชุมชนในสังคมเป็นการละเมิดทำให้ครอบครัวญาติพี่น้องต้องได้รับความอับอาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากสังคมเพียงใด

...

นายอาดิลัน กล่าวต่อว่า ขอถามว่า 1.รัฐบาลมีนโยบายในการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน ที่ไม่ได้มีส่วนกระทำความผิดเพียงแต่เป็นบุคคลที่มีนามสกุล  หรือมีสถานะเป็นภรรยา หรือมีสถานะเป็นบุตร หรือมีสถานะเป็นบิดา หรือมีสถานะเป็นมารดาหรือไม่อย่างไร ขอทราบรายละเอียด 2.รัฐบาลมีนโยบายสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในทุกมิติของภารกิจที่ปฏิบัติ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามเจตนารมณ์ เพื่อหนุนเสริมกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพหรือไม่อย่างไร

ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า เรามีความห่วงใยพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะครอบครัวของผู้ถูกติดประกาศจับ หรือผู้ที่มีนามสกุลเดียวกัน ซึ่งหมายจับดังกล่าวนั้น ไม่ได้ติดประกาศไปทุกโซนในแต่ละหมายจะอยู่ในโซนใครโซนมัน โดยในขณะนี้มีภาพบุคคลอยู่ประมาณ 373 ภาพ และมี 1,704 หมายจับ เพราะบางคนอาจจะไม่ได้มีหมายจับเดียว และในการออกหมายจับต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและมีหลักฐานชัดเจน รวมถึงคำขอการออกประกาศจับต้องชัดเจนในสิ่งที่ปรากฏว่ามีรูปประกาศจับ ตามสถิติได้เห็นแล้วว่าทำให้การก่อความไม่สงบมีสถิติลดลง ประชาชนที่รู้ถึงหมายจับก็จะไม่ให้ความร่วมมือกับผู้กระทำผิด อย่างไรก็ตามการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ตามหมายจับที่ปรากฏเป็นรูป มีชื่อสกุล เป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีข้อยกเว้นไม่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพราะเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนสิทธิของบุคคลนั้นๆ ยังได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนการขับเคลื่อนการพูดคุยเพื่อสันติ รัฐบาลมีคณะกรรมการเพื่อพูดคุย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และยังมีคณะกรรมการระดับพื้นที่ ที่มีแม่ทัพภาค 4 เป็นประธาน ส่วนการเสนอกฎหมายในสภามีกฎหมายสำคัญอยู่ 2 ฉบับ ที่กระทรวงยุติธรรมได้เสนอและประกาศใช้แล้ว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปิดประกาศหมายจับ คือ พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งในฉบับนี้น่าจะเกี่ยวข้อง เพราะมีการบัญญัติถึงการป้องกันทรมานและสูญหาย โดยหากเจ้าหน้าที่ภาครัฐและประชาชนประสานงาน เข้าใจกัน จะเกิดผลดีกับทุกฝ่าย ในอนาคตข้างหน้าคงจะมีทางออกที่ดีในเรื่องกฎหมายด้วย