รัฐบาล พร้อมลุยปราบปรามฟอกเงิน จ่ายชดเชยเหยื่อค้ามนุษย์ กฎหมายใหม่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ปี 2565 บังคับใช้ปลายปี สอดรับมาตรฐานสากล
วันที่ 31 ตุลาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งมั่นผลักดันการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ เกิดความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศ และมาตรฐานสากล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน หนึ่งในกฎหมายสำคัญที่ผ่านกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา (มีผลใช้บังคับใช้จากนี้ 60 วัน) คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2565 สาระประกอบด้วย
1.แก้ไขเพิ่มเติมการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ให้ครอบคลุมถึงความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง เพิ่มเติมไปจากความเสียหายต่อทรัพย์สิน โดยให้ผู้เสียหายมี สิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เช่น กรณี การช่วยให้เหยื่อจากการค้ามนุษย์ได้รับการชดใช้ความเสียหายจากทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด
2.กำหนดการคุ้มครองสิทธิผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยให้ผู้มีส่วนได้เสียโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาซึ่งส่วนได้เสียโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือ ในทางกุศลสาธารณะ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอคุ้มครองสิทธิของตนได้ เช่น กรณี ผู้ทำสัญญาจะซื้อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยสุจริตและได้ชำระเงินมัดจำให้ผู้จะขายไว้แล้วต่อมาทรัพย์สินดังกล่าวได้ถูกพนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวสามารถร้องขอให้ศาลมี คำสั่งคุ้มครองสิทธิ์ให้ตนได้
3.กำหนดกระบวนการดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งถูกรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น โดยให้ศาลมีอานาจสั่งให้สำนักงาน ปปง. นำทรัพย์สินที่รวมเข้ากันทั้งหมดนั้นออกขายทอดตลาด และนำเงินที่ขายได้ส่งให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือนำไปชดใช้ให้ผู้เสียหายตามสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อย่างไรก็ดี หากเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวไม่ต้องการให้ทรัพย์สินนั้นถูกขายทอดตลาดก็สามารถนำเงินตามสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามจำนวนที่ศาลกำหนดส่งให้สำนักงานแทนการนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดได้
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว สอดคล้องกับข้อเสนอจากรายงานการค้ามนุษย์หรือ Trafficking in Persons (TIP Report) และ เป็นตามมาตรฐานสากล ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) ซึ่งขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในขั้นการออกกฎหมายลูก เพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติ เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน และจัดการผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก และแน่นอนจะส่งผลถึงภาพลักษณ์ประเทศในเรื่องความจริงจังในการยกระดับมาตรฐานการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและการฟอกเงินจากการกระทำทุจริตในลักษณะต่างๆ.
...