ลัทธิเอาอย่างทำท่าจะลุกลามในประเทศไทย เราเคยมีการยิงกราดสังหารหมู่เกือบ 30 ศพเป็นครั้งแรก ที่นครราชสีมา เมื่อปี 2563 และเกิดซ้ำอีกที่หนองบัวลำภู คราวนี้เป็นการสังหารหมู่เด็กเล็ก รวมทั้งผู้ใหญ่เกือบ 40 ศพ ในปี 2565 เป็นอีกปีหนึ่งที่มีการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง
เริ่มต้นด้วยกรณี “ลุงศักดิ์” บุกเข้าไปเตะต่อย “พี่ศรี” ในขณะให้สัมภาษณ์สื่อ ตามด้วยบุรุษเจ้าของฉายา “เคร้อยล้าน” บุกเข้าไปร้องตะโกน สร้างความแตกตื่นว่ามีระเบิด และเข้าล็อกคอนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ทั้งสองกรณีแม้จะไม่ก่อความเสียหายร้ายแรง แต่เป็นความรุนแรงทางการเมือง
“ลุงศักดิ์” ชี้แจงเหตุที่ทำร้ายร่างกายนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เพราะนายศรีสุวรรณประกาศว่า “จะแจ้ง ความจับหมด” ผู้ร่วมชุมนุมการเมือง เพราะการชุมนุมใน 2–3 ปีที่ผ่านมา ล้วนแต่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ที่ห้ามชุมนุมมั่วสุมกันโดยเด็ดขาด
นายศรีสุวรรณอาจลืมไปว่า นับแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นมา รัฐบาลประกาศเปลี่ยนสถานะของโควิด จากโรคระบาดอันตรายร้ายแรง เป็นโรคเฝ้าระวังและไม่ต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันเดียวกัน ขณะนี้จึงไม่มีกฎหมายห้ามมั่วสุมชุมนุม ใครฝ่าฝืนถือว่าทำผิดกฎหมาย ตำรวจมีอำนาจสลายการชุมนุมอย่างในอดีต
มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตั้งแต่ปี 2548 เพื่อป้องกันและปราบปรามเหตุร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โหมกระพือขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2547 ต่อมารัฐบาลประยุทธ์นำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาประกาศใช้ทั่วประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่นำไปใช้ควบคุมการชุมนุมเป็นหลัก
...
เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลหรือตำรวจไทย ไม่ชอบใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่รัฐบาล คสช.เป็นผู้ตราขึ้นเอง แต่ชอบใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งๆที่ไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินใน กทม.และจังหวัดอื่นๆ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง ทั้งห้ามชุมนุม และมีอำนาจจับกุมคุมขัง เพราะถือว่าการชุมนุมผิดกฎหมาย
แม้แต่เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งเป็น “นักร้อง” ระดับมืออาชีพ ยังเห็นว่าการชุมนุมล้วนแต่ผิดกฎหมาย จึงต้องแจ้งความจับหมด แทนที่จะทำหน้าที่ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย” ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ” แต่กลับไปพิทักษ์กฎหมายอำนาจนิยม.