“อนุทิน” เผย ไทยไม่ประมาทโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา แม้ WHO ยังไม่ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ เชื่อไม่กระทบท่องเที่ยว สธ. ย้ำมีมาตรการคัดกรองเข้มทุกคนที่มาจากยูกันดา
วันที่ 25 ตุลาคม 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานจากกรมควบคุมโรค ถึงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ในประเทศโซนทวีปแอฟริกาซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อในประเทศยูกันดาหลายเมือง จำนวน 90 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 44 ราย
แม้จำนวนผู้ป่วยยังไม่มากและองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้ประกาศให้การระบาดครั้งนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) แต่กระทรวงสาธารณสุขไทยไม่ประมาท ได้ติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด และตั้งแต่เดือน ก.ย. เป็นต้นมาได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เนื่องจากโรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดาทุกคน โดยต้องลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายอนุทิน กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานให้นำมาตรการตรวจคัดกรองป้องกันและควบคุมโควิด-19 มาใช้ในการดูแลคัดกรองและป้องกันโรคในครั้งนี้ และเชื่อมั่นว่าประสบการณ์ในการรับมือกับโควิด-19 ของทุกประเทศทั่วโลกใน 3 ปีที่ผ่านมา สามารถจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาให้อยู่ในวงจำกัด ไม่กระทบต่อการท่องเที่ยวทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัวอยู่ในขณะนี้
ในส่วนการท่องเที่ยวไทยก็มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากกำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเยือนประเทศไทยทั้งทางอากาศ ทางบก และทางเรือ ล่าสุดเรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียได้นำคณะนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน จ.ภูเก็ต ในรอบเกือบ 3 ปี ซึ่งหลังจากนี้จะมีเข้ามาทุกสัปดาห์ นับเป็นสัญญาณที่ดี ตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นที่นักท่องเที่ยวมีต่อประเทศไทย
...
ทางด้าน นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาที่มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศยูกันดา 90 ราย และเสียชีวิต 44 ราย โดยอัตราป่วยตาย ร้อยละ 49 ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อ 11 ราย และเสียชีวิต 5 ราย การระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดาน มีความรุนแรงเป็นอันดับ 2 (อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 53) รองมาจากสายพันธุ์ซาอีร์ (อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 68)
สำหรับการระบาดในครั้งนี้แม้จำนวนผู้ป่วยยังไม่มากแต่เป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดโดยมีการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมการระบาดในประเทศยูกันดาอย่างเข้มข้น จากการตรวจสอบข่าวพบว่าองค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศ ให้การระบาดครั้งนี้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่ปกติจะมีการประเมินสถานการณ์ระบาดเป็นระยะ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 กรมควบคุมโรคได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เนื่องจากโรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดา ทุกรายจะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาพ และลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422.