แม้การแก้ไขรัฐบาลจะล้มเหลวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งฉบับ แต่ดูเหมือนว่าพรรคฝ่ายค้านที่เรียกตนเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ยังไม่ลดละความพยายาม เมื่อต้นเดือนกันยายน ดร.โภคิน พลกุล จากพรรคไทยสร้างไทย ได้เรียกร้องพรรคฝ่ายประชาธิปไตยให้ร่วมกันต่อสู้
ดร.โภคินซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศกล่าวว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนไว้ว่าอำนาจเป็นของประชาชน แต่ถูกบิดเบือนมาตลอดเวลา ด้วยเงิน ด้วยอำนาจนิยม นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ และความทุกข์ยากของประชาชน จึงต้องสร้างอำนาจให้ประชาชน โดยรัฐธรรมนูญประชาชน
ก่อนหน้านี้ มีพรรคการเมืองบางพรรค หรืออาจจะหลายพรรค ร่วมกันเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการออกเสียงประชามติ ขอความเห็นชอบจากประชาชน เห็นด้วยหรือไม่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าถ้าจะแก้ไขทั้งฉบับต้องทำประชามติ เพราะฉบับ 2560 ผ่านประชามติ
ดูเหมือนว่าเสียงข้างมากของสภาจะเห็นด้วยกับการให้ลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ พร้อมกับการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งเป็นการให้การศึกษาทางการเมือง แก่ประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลงมติ ควรให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน
การออกเสียงประชามติสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 “ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร” คณะรัฐมนตรีจะขอให้ประชาชนออกเสียงในเรื่องที่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล หรือคณะบุคคล เป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติในประเทศประชาธิปไตยของโลก ในวันเลือกตั้ง อาจถามประชาชนเรื่องกัญชาด้วยก็ได้
แต่สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เอียงข้างอำนาจนิยม คณะรัฐมนตรีอาจเห็นว่า “ไม่มีเหตุอันสมควร” ที่จะให้ประชาชนลงประชามติ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งกระทบต่อการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร แม้จะครองอำนาจมากว่า 8 ปีแล้ว แต่ยังอยากไปต่อ
...
มีปัญหาว่าถ้า ครม.ไม่ยอมให้ทำประชามติ สภาผู้แทนราษฎรจะใช้เสียงข้างมากลงมติให้ ครม.ต้องทำได้หรือไม่ การตัดสินปัญหาในระบอบประชาธิปไตยพิสดารอาจไม่ใช้เสียงข้างมาก หลายปัญหาอาจชี้ขาดด้วยเสียงข้างน้อย เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องตกไป ถ้า ส.ว.เห็นด้วยไม่ถึง 84 เสียง แม้ 500 ส.ส.จะเห็นด้วยทั้งสภา.