พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ลงพื้นที่ภาคใต้ ติดตามขับเคลื่อนแก้ปัญหาแรงงาน ความยากจน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เร่งพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจนราธิวาสและเมืองต้นแบบ

วันที่ 22 ต.ค. พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรอง นรม.เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 10.30 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส-นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง-พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และคณะ ได้เดินทางลงใต้ จว.ยะลา และ จว.ปัตตานี ติดตามขับเคลื่อนงานพัฒนาและความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี เลขาฯ ศอ.บต.-ผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ให้การต้อนรับ

...

โดย พล.อ.ประวิตร และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชม นิทรรศการท้องฟ้าจำลอง จากการจัดตั้ง “หอเฉลิมพระเกียรติรายอกีตอ” ตามพระราชดำริ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ และติดตามการช่วยเหลือแรงงานไทยจากสถานการณ์โควิด-19 และการเตรียมการจัดแรงงานไทยจาก จชต.ไปทำงานประเทศซาอุดีอาระเบีย ณ ศูนย์ราชการ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอธิบดีกรมจัดหางาน

ต่อจากนั้นได้กระทำพิธีเปิด “มหกรรมแรงงานไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดแรงงานที่มีทักษะโลกมุสลิม” และพบปะแรงงานที่ประสงค์เดินทางไปต่างประเทศ จากนั้น ได้ติดตามการขับเคลื่อนงานพัฒนาและความมั่นคงในพื้นที่ จชต. โดยรับทราบการเปิดสถาบันภาษานานาชาติ เน้นการเรียนรู้ ทั้งภาษาไทย มลายู อาหรับ ตุรเคีย มลายู จีนและอังกฤษ พร้อมทั้งเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนภาษา 4 ภาษา

พล.อ.ประวิตร ได้แสดงความขอบคุณ ศอ.บต.และโรงงาน ที่ร่วมแก้ปัญหาการว่างงานของประชาชนในพื้นที่ ระหว่างสถานการณ์โควิด-19 ได้กว่า 14,500 ราย และขับเคลื่อนความร่วมมือแรงงาน ไทย-ซาอุดีอาระเบีย และประเทศมาเลเซีย ได้กว่า 30,000 ตำแหน่งงาน โดยสั่งการ ศอ.บต.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเรียนรู้และการพัฒนาตามช่วงวัยของเด็กเล็ก ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ไม่มีงานทำและขาดรายได้ โดยเน้นความทั่วถึง ทั้งการส่งเสริมอาชีพและจัดหางาน การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อให้สามารถดำรงชีพและช่วยเหลือครอบครัวได้อย่างมั่นคง โดยให้ประสานกับ กระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนางานระดับหมู่บ้านชุมชนที่เปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุน และให้เร่งพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจนราธิวาสและเมืองต้นแบบ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเร็วขึ้น โดยต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตประชาชน เช่น อุตสาหกรรมฮาลาล และ BCG และให้มีการเชื่อมต่อกับต่างประเทศ ภายใต้ศักยภาพทุนมนุษย์และทรัพยากรในพื้นที่ที่มีอยู่ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ในลักษณะมีส่วนร่วมไปพร้อมกัน