“พล.อ.ประวิตร” ลุยเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัย จ.ศรีสะเกษ ต่อจากอุบลฯ กำชับให้เร่งช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว เขินหลังถูกสาวหอมแก้มอีกแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.45 น. วันนี้ (12 ต.ค. 2565) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์จาก จ.อุบลราชธานี ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยที่ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ที่สะพานข้ามทางรถไฟบ้านหนองบัวไชยวาน ต.โนนสัง โดยมี นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัย ทางด้านประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนาซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้จ่ายเงินค่าชดเชยรอบที่ 3 เดินทางมาแสดงความขอบคุณต่อ ครม. ผ่าน พล.อ.ประวิตร ด้วย ซึ่งวันนี้มีผู้หญิงชาวบ้านคนหนึ่งเข้าขอหอมแก้ม ทำให้ พล.อ.ประวิตร เขิน

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนโดยเร็ว พล.อ.ประวิตร สั่งการให้ กอนช. โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหน่วยงานหลัก ในการประสานแผนการบริหารจัดการน้ำของกรรมการลุ่มน้ำ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัดและการประกาศพื้นที่ประสบภัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของการจัดการน้ำในสภาวะเสี่ยงเกิดอุทกภัยและส่งผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด พร้อมมอบหมายให้กรมชลประทาน ดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมปี 2565 ตามที่ กอนช. ให้ความเห็นชอบ พร้อมทั้งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างทันท่วงที และขอให้จังหวัดร่วมกับหน่วยทหาร สนับสนุนเครื่องมือ ยานพาหนะ และกำลังพล เพื่อเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว และให้จังหวัดเตรียมแผนฟื้นฟูภายหลังน้ำลดให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วต่อไปด้วย

...

ด้าน เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันที่บริเวณกลางสะพานพิบูลมังสาหารได้ถอนเครื่องผลักดันน้ำออกแล้ว เพื่อไม่ให้กีดขวางการไหลของกระแสน้ำเนื่องจากอัตราการไหลของน้ำบริเวณกลางลำน้ำมีอัตราไหลเร็วอยู่แล้ว แต่ยังคงเหลือเครื่องผลักดันน้ำไว้ 40 เครื่องบริเวณ 2 ข้างลำน้ำ เพื่อช่วยเสริมการระบายน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์หน้าเมื่อระดับน้ำลุ่มน้ำมูลลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ กอนช. จะได้ประสานการนำเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในลำน้ำชี ซึ่งคาดว่าช่วงต้นเดือน พ.ย. ระดับน้ำในพื้นที่ภาคอีสานจะเริ่มลดลงและที่เอ่อท่วมสองฝั่งลำน้ำจะทยอยไหลกลับเข้าสู่ลำน้ำหลักเพื่อเร่งระบายลงแม่น้ำโขงให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ควบคู่การฟื้นฟูเยียวยาประชาชนที่ประสบอุทกภัยโดยเร็วต่อไป.