“จิตภัสร์” รองประธาน กมธ.ตำรวจ ผลักดัน สังคายนาระบบครอบครองอาวุธปืนและปืนสวัสดิการ หลังสถิติ "ปืนเถื่อนเกลื่อนเมือง" ใช้ก่อคดีโหดพุ่ง 77.5% ระหว่างลงพื้นที่ เยี่ยมและให้กำลังใจผู้ได้รับบาดเจ็บ เหตุกราดยิงหนองบัวลำภู
 
วันที่ 8 ต.ค. น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการตำรวจสภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ สภ.นากลาง อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ติดตามสถานการณ์ ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ และเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ได้รับบาดเจ็บจากโศกนาฏกรรมสังหารหมู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู รวม 37 ศพ ที่รพ.อุดรธานี

น.ส. จิตภัสร์ กล่าวว่า รู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตและให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้สูญเสียด้วย ในฐานะที่ตนเป็นนักศึกษาปริญญาเอก ด้านอาชญาวิทยา ตระหนักและเล็งเห็นชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงเหตุการณ์รุนแรง แต่เป็นปัญหาสังคมที่หมักหมมฝังรากลึกในสังคมไทยมานาน เป็นภาพชัดสะท้อนความรุนแรงทางสังคมในทุกมิติ

...

น.ส.จิตภัสร์ กล่าวว่า จากสถิติการครอบครองอาวุธปืนในประเทศไทย รวมประชากรในอาเซียน 647 ล้านคน พบว่า คนไทย 68 ล้านคน มีอาวุธปืนในครอบครองของพลเรือนมากถึง 10,342,000 กระบอก สูงที่สุดในอาเซียน ถือเป็นอันดับที่ 13 ของโลก น่าตกใจไปกว่านั้นในจำนวนกว่า 10 ล้านกระบอก เป็นปืนเถื่อนมากถึง 40% หรือ ประมาณ 4.1 ล้านกระบอก

นอกจากนี้การก่อเหตุรุนแรง ก่ออาชญากรรมร้ายแรงด้วยอาวุธปืนเถื่อนในประเทศไทย มีอัตราการเกิดเหตุสูงถึง 77.5% จากการก่อเหตุประมาณ 35,000 ครั้ง แสดงว่ามี "ปืนเถื่อนเกลื่อนเมือง" ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ดังนั้นถึงเวลาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องลงมือเริ่มต้นแก้ไขปัญหาที่ต้นตออย่างตรงจุดอย่างครบถ้วนไม่ว่า เรื่องกฎหมาย การเมือง ไปจนถึงระบบการซื้อปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการตำรวจ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนในระยะสั้นให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ก่อนที่จะมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาระยะยาวมาในอนาคต

นางสาวจิตภัสร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ต้องมาพิจารณาอย่างเป็นระบบอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องกฎหมาย การบริหารจัดการ หลักเกณฑ์การครอบครองอาวุธปืนในประเทศไทย ไม่ว่าโครงการปืนสวัสดิการของสน. อส. กระทรวงมหาดไทย โครงการปืนสวัสดิการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาควรแบ่งเป็นหลายด้านด้วยกัน

ด้านความมั่นคง ต้องเพิ่มความเข้มงวดระเบียบหลักเกณฑ์การครอบครองอาวุธปืน กำหนดใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน การต่ออายุทุก 2-3 ปี โดยมีคณะกรรมการพิจารณาจากหลายภาคส่วน ให้การอนุมัติและเข้าถึงอาวุธปืนยากขึ้น การลงโทษผู้ครอบครองและหรือใช้อาวุธปืนที่ไม่มีทะเบียน การติดตามผู้พ้นโทษที่เคยถูกจำคุกคดีความผิดที่เกี่ยวกับการใช้อาวุธปืน รวมไปถึงการตรวจสุขภาพจิตเจ้าหน้าที่ ผู้ครอบครอง ใช้อาวุธปืนด้วย
 
ด้านการศึกษา ควรมีการเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชน เรื่องอันตรายของอาวุธปืน และการครอบครองอาวุธปืนอย่างถูกกฎหมาย และด้านสื่อ ต้องมีการกำกับติดตาม การเสนอข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนอย่างไม่เหมาะสม การควบคุมการเผยแพร่ภาพ ฉาก ที่มีการถือหรือใช้อาวุธปืน โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ รวมไปถึงละเมิดสิทธิการถ่ายภาพของผู้ได้รับผลกระทบ